นายกฯถกบอร์ดบีโอไอย้ำร่วมมือพลิกโฉมประเทศไทย

2021-10-11 18:35:53

นายกฯถกบอร์ดบีโอไอย้ำร่วมมือพลิกโฉมประเทศไทย

Advertisement

นายกฯ ประชุมบอร์ดบีโอไอ ย้ำทุกฝ่ายร่วมมือกันพลิกโฉมประเทศไทยทั้งการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจไทย 

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 4/2564 ผ่านระบบ Video Conference โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ร่วมด้วย โดยย้ำทุกฝ่ายร่วมมือกันพลิกโฉมประเทศไทยทั้งการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจไทย รวมทั้งเร่งดำเนินการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ตามวางเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2065 มอบหมายให้ BOI และหน่วยงานที่เกี่ยวของนำข้อมูลที่นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลง ในงาน Global Compact Network Thailand – (GCNT) Forum 2021 ภายใต้หัวข้อ “บทบาทผู้นำ มุ่งสู่การลงมือแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Leadership for Climate Actions)” พลิกโฉมประเทศ ตามวางเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยให้ทุกหน่วยงานบูรณาการสอดประสานแผนงาน แผนคน และแผนงบประมาณ และกำหนดแผนงานระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ตามลำดับความเร่งด่วน เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) และสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายเรื่องการลดก๊าซเรือนจกของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้า การลงทุน เศรษฐกิจโดยรวมและความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคตด้วย

ในที่ประชุม นายกรัฐมนตรีได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีทั้ง 1.0, 2.0, 3.0 จึงต้องทำให้ 3.0 ไปสู่ 4.0 ให้ได้โดยเร็วก่อนและอนาคตขยายไปสู่ 4.0+ ขณะเดียวกันก็พัฒนากลุ่ม 1.0 ขึ้นไปสู่ 2.0 และพัฒนายกระดับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยระหว่างนี้ก็ต้องดำเนินการดูแลในกลุ่ม 2.0 และ 3.0 เพื่อรักษาสภาพอุตสาหกรรมที่มีอยู่ให้สามารถขับเคลื่อนได้ควบคู่กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและการยกระดับอุตสาหกรรมป้องกันคนตกงานและปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต

นายกรัฐมนตรียังเสนอแนะถึงการส่งเสริมการลงทุนสำหรับ SMEs ในกิจการโรงแรมโดยมอบหมาย BOI และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการข้อมูลและการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรมที่กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการอยู่ เพื่อสนับสนุนให้กิจการโรงแรมที่ยังดำเนินการไม่ถูกต้อง เข้าสู่ระบบให้ถูกต้องเพื่อจะได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์และการช่วยเหลือจากภาครัฐ รวมทั้งให้มีการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่ม Startup ด้วยเพราะเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ มาตการส่งเสริมการลงทุน นอกจากสิทธิประโยชน์ด้านภาษีแล้ว ควรมีมาตรการใหม่ ๆ ที่น่าสนใจในการดึงดูดนักลงทุนด้วย เช่น เรื่องของการใช้ที่ดิน หรือมาตรการเสริมอื่น ๆ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC รวมทั้งพื้นที่อื่นควบคู่ไปด้วยทั้งในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมเดิม และอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เป็นต้น

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาในประเด็นสำคัญ ดังนี้

1) เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการยกระดับไปสู่ Industry 4.0 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้ลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามเกณฑ์ที่กำหนดในด้านต่างๆ เช่น ระบบอัตโนมัติและการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ (Automation and Network Technology) การวิเคราะห์ข้อมูลและการปฏิบัติการที่ชาญฉลาด (Smart Operation) หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้บริหารจัดการในกระบวนการผลิตและการบริหารองค์กร (Digital Technology in Production & Enterprise Processes) เป็นต้น โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี สัดส่วนร้อยละ 100 ของเงินลงทุนในการปรับปรุง โดยยื่นขอรับการส่งเสริมภายในวันทำการสุดท้ายของปี 2565 และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม

2) ที่ประชุมอนุมัติขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นสิ้นสุดวันทำการสุดท้ายของปี 2565 จากเดิมสิ้นสุดในวันทำการสุดท้ายของปี 2564 โดยมาตรการพิเศษสำหรับ SMEs กำหนดวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่าจากเกณฑ์ปกติ และผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ รวมถึงการให้สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ (Merit-based Incentives) เพื่อกระตุ้นให้ SMEs พัฒนาศักยภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งจะช่วยให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ ตลอดจนส่งเสริม SMEs ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคและเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งนี้คาดว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

พร้อมกันนี้ บีโอไอสรุปภาวะการลงทุน ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 สถิติการขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นเกินคาด มีมูลค่ารวมมากกว่า 5 แสนล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นโดยสูงกว่าปี 2563 ทั้งปี และยังสูงกว่ามูลค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโควิดในช่วงปี 2558 – 2562 ขณะที่การลงทุนผ่าน FDI มูลค่าก็เพิ่มขึ้นสอดคล้องกัน โดยมีอัตราเติบโตมากกว่า 200% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน