"หมอโอภาส"ยันส่งวัคซีนลงใต้มากกว่า 2 ล้านโดส ไม่ได้ขาด ยอดฉีดเกินเป้า แจงบางพื้นที่ยังไม่ได้เข็ม 1 เหตุไม่มีการระบาด กก.ควบคุมโรคจังหวัดเป็นคนพิจารณา เผยสถานการณ์ทรงตัว อัดวัคซีนไฟเซอร์ลงไปช่วยเพิ่มเติม
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีการออกมาระบุว่าเหตุที่มีการระบาดของโรคโควิด – 19 ในพื้นที่ภาคใต้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการจัดส่งวัคซีนลงไปน้อย ว่า ไม่เป็นความจริงที่ว่ามีการส่งวัคซีนลงไปยังพื้นที่ภาคใต้น้อย เพราะตามแผน ศบค.ให้มีการจัดส่งไปทั้งสิ้น 1,495,400 โดส แต่เราส่งวัคซีนลงไปจริงๆ ถึง 2,085,668 โดส มากกว่าแผนที่กำหนดกว่า 5 แสนโดส เช่น จ.สงขลา จัดส่งทั้งสิ้น 956,190 โดส ปัตตานีส่งไป 366,018 โดส ฉีดแล้ว 405,259 โดส , ยะลา 335,030 โดส ฉีดแล้ว 398,886 โดส และ สงขลา 956,190 โดส ฉีดแล้ว 1,017,532 โดส ถ้าบอกว่าส่งไปน้อยคงไม่ถูกต้อง แต่ถ้าบอกว่าต้องได้ฉีดทุกคนตามแผนก็คือสิ้นปี รวมถึงอัตราการฉีดจริงตอนนี้ก็ถือว่าเกินเป้าด้วย โดยฉีดได้ 2,256,022 โดส ซึ่งส่วนที่เกินมานั้นเพราะเขามีการฉีดซิโนฟาร์มด้วยถือว่าเยอะกว่าหลายจังหวัด ส่งให้เกินเป้า ไม่ได้ขาด ยืนยันตัวเลขชัดเจน
เมื่อถามว่ามีเสียงจากในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ว่าประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไปยังไม่ได้ฉีดเข็ม 1 อีกจำนวนหนึ่ง นพ.โอภาส กล่าวว่า อย่างที่บอกว่าเราส่งวัคซีนไปตามโควต้า จากนั้นจะมีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่จะไปพิจารณากำหนดกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นเรื่องของพื้นที่ เช่น ในจังหวัดหนึ่ง หากอำเภอนี้ไม่มีการระบาดก็จะได้รับการฉีดวัคซีนหลังอำเภอที่มีการระบาด เป็นต้น ตรงนี้พื้นที่เป็นคนตัดสินใจ
เมื่อถามต่อแปลว่าการที่มีการระบาดในภาคใต้ไม่ได้เป็นเพราะวัคซีนไม่เพียงพออย่างที่มีการออกมาระบุ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การระบาดจะต้องใช้หลายมาตรการควบคู่กัน อย่างที่ทราบว่าวัคซีนต้องฉีดครบ 2 เข็ม และใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์จึงจะมีภูมิคุ้นกัน ถ้ามัวแต่รอวัคซีนอย่างเดียวคงไม่ใช่ แต่มาตรการเดิมต้องทำ คือมาตรการส่วนบุคคล มาตรการทางสังคม เว้นระย่าง และการสอบสวนควบคุมโรค โดยเฉพาะคลัสเตอร์ใหญ่ๆ แต่เท่าที่ดูสถานการณ์ในภาคใต้ตอนนี้จะเป็นการระบาดในชุมชนคล้ายๆ กับการระบาดในกทม. ดังนั้นนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงมีการส่งทีมเคลื่อนที่เร็ว CCRT ลงไปสอบสวน ควบคุม ป้องกันโรค ให้มีการฉีดวัคซีน ตรวจ ATK ให้ทำเหมือนกทม. ซึ่งเชื่อว่าเขามีประสบการณ์แล้ว เพราะก่อนหน้านี้บุคลากรทางภาคใต้เองก็เป็นหนึ่งในทีมที่ลงมาช่วยคุมการระบาดในกทม. ตอนนี้ก็ต้องส่งทีมลงไปช่วยภาคใต้ ซึ่งตอนนี้ในพื้นที่ก็ทรงๆ ไม่ได้พุ่งขึ้นอย่างที่กังวลกัน คงต้องระดมคนไปช่วยกันร่วมกับการดำเนินการหลายๆ มาตรการ
เมื่อถามย้ำว่าตอนนี้ในพื้นที่ภาคใต้มีการพบเชื้อหลายสายพันธุ์ ทำให้มีความกังวลกัน นพ.โอภาส กล่าวว่า ทั้งนี้ สายพันธุ์ที่ระบาดหลักๆ ตอนนี้คือเดลตา ตอนนี้เราก็จะส่งไฟเซอร์ลงไปช่วยเหลือ ซึ่งเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา เมื่อถามว่าสูตรการฉีดวัคซีนไขว้เข็มที่ 1 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า และเข็ม 2 เป็นไฟเซอร์ จะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงใด นพ.โอภาส กล่าว เป็นสูตที่เราวางเอาไว้อยู่ในแผนของกระทรวงฯ โดยหลักการคือสามารถใช้ได้ ทั้งนี้ในวันที่ 7 ต.ค. จะมีการนำเข้าหารือในที่ประชุมอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อให้การรับรองต่อไป