ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากหัวหิน ชี้เกิดจากการขยายตัวธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำเส้นทางน้ำระบายลงทะเลเปลี่ยนแปลง ด้านอดีตรองประธานสภาเทศบาลเมืองหัวหินโวยนายทุนรุกคลองพระราชดำริ
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.นายพัลลภ สิงหเสนี ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่าจากการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในเขตเทศบาลเมืองหัวหินพบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังช่วงที่มีฝนตกหนักมาจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของเส้นทางน้ำที่ระบายลงทะเล ล่าสุดได้มอบหมายให้เทศบาลเมืองหัวหิน สำนักงานโครงการชลประทานจังหวัด สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง แขวงทางหลวงประจวบคีรีขันธ์ สำรวจเส้นทางน้ำของเมืองหัวหินในภาพรวมทั้งหมด จากนั้นจะร่วมกันแผนในเชิงโครงสร้างเพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาว โดยตรวจสอบโครงการที่ดำเนินการไว้แล้ว เส้นทางน้ำเดิมที่เปลี่ยนไปจากลักษณะของภูมิประเทศในอดีตและปัจจุบัน
“ในอนาคตจะต้องมีแผนงานหลักที่ชัดเจนเพื่อควบคุมและการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานตามแผนที่กำหนดไว้ โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากส่วนกลางมาดำเนินการ สำหรับหมู่บ้านพงศ์นเรศที่ซอยหิน 102 เป็นหมู่บ้านเก่าที่สร้างมานานมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะเป็นจุดที่มีน้ำท่วมซ้ำซาก ค่อนข้างจะมีปัญหาในการระบายน้ำพอสมควร ดังนั้นจะต้องกำชับให้เทศบาลหัวหินเข้มงวดในการใช้มาตรการตามกฎหมายทั้ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร โดยเฉพาะการใช้ พ.ร.บ การขุดดินถมดิน ส่วนกรณีการบุกรุกลำรางสาธารณะ รวมทั้งโครงการตามแนวพระราชดำริผ่านคลองพระราชดำริหลายสายจะต้องมีการสำรวจอีกครั้ง ยืนยันว่าจะต้องนำภาพถ่ายทางอากาศเพื่อดูสภาพคลองธรรมชาติในอดีตมาเปรียบเทียบกับปัจจุบันว่ามีการบุกรุกหรือไม่” นายพัลลภ กล่าว
ด้าน นายประภา นรทศ อดีตรองประธานสภาเทศบาลเมืองหัวหิน กล่าวว่าที่ผ่านมาได้ยื่นเรื่องร้องเรียนถึงหลายหน่วยงานในส่วนกลาง รวมทั้งสำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีนายทุนรุกพื้นที่ถมคลองแนวคลองตามโครงการพระราชดำริ ตามโครงการป้องกันน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองหัวหินและวังไกลกังวลเมื่อปี 2542 ประกอบด้วยคลองนิลหรือคลองอีออก คลองโคกเกลือและคลองแม่จำเนียร แต่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าและบางหน่วยงานอ้างว่าเอกสารของตนที่ยื่นให้ตรวจสอบสูญหาย ขณะที่อดีตผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ได้แต่งตั้งกรรมการหลายหน่วยงานร่วมกันตรวจสอบและทราบว่ามีการขยายระยะเวลาตั้งแต่ปี 2559 ทำให้ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน โดยเฉพาะกรณีที่มีการถมคลองบางแห่ง เพื่อให้นายทุนใช้ประโยชน์ในธุรกิจอสังหาทรัพย์ขนาดใหญ่