สภาฯมอบรางวัลพานแว่นฟ้าปี 64 เรื่องสั้น "มือเย็น" ส่วนบทกวี "หมู่บ้านปลาเหิรลม" พร้อมยกย่อง 10 ผลงานวรรณกรรมทรงคุณค่า แรงบันดาลใจนักเขียน ผู้รักประชาธิปไตย
เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 64 ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยในปีนี้ เรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานเรื่อง “มือเย็น” ของ วัฒน์ ยวงแก้ว และบทกวีที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานเรื่อง “หมู่บ้านปลาเหิรลม” ของ ปราสาทหิน พันยอด สำหรับการประกวดในปี 2564 ได้เปิดรับผลงานเข้าประกวดฯ ตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. 2564 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2564 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น จำนวน 1,000 ผลงาน แบ่งเป็นประเภทเรื่องสั้น จำนวน 403 ผลงาน และบทกวี จำนวน 597 ผลงาน ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ใช้ความรู้ ความสามารถ ความละเอียดรอบคอบ และความบริสุทธิ์ยุติธรรม ในการตัดสินผลงานที่ส่งเข้าประกวด
ในโอกาสที่รางวัลพานแว่นฟ้าครบรอบ 2 ทศวรรษในปี 2564 คณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า เห็นสมควรยกย่องผลงานวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าสมควรแก่การเผยแพร่ให้เป็นแบบอย่าง เพื่อปลุกเร้าหรือเป็นแรงบันดาลใจแก่นักเขียนและผู้รักประชาธิปไตยในสังคมไทย โดยมอบรางวัลพานแว่นฟ้าเกียรติยศให้แก่ผลงานที่ผ่านการคัดสรรของคณะกรรมการฯ จำนวน 10 รางวัล ได้แก่ 1.“ความฝันของนักอุดมคติ” โดย ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน 2. “ระย้า” โดย สด กูรมะโรหิต 3 “แผ่นดินนี้ของใคร” โดย ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์ 4.“เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี” โดย อิศรา อมันตกุล 5.“แผ่นดินเดียวกัน” โดย รพีพร (สุวัฒน์ วรดิลก) 6. “เพียงความเคลื่อนไหว” โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 7. “เจ้าขุนทอง” โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ 8. “ขุนทอง...เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง” โดย อัศศิริ ธรรมโชติ 9. “คนคนนี้แหละคน” โดย รวี โดมพระจันทร์ (ยุทธพงศ์ ภูริสัมบรรณ) และ10. “ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย” โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
ในโอกาสนี้ นายชวน ได้กล่าวขอบคุณผู้ส่งผลงานเข้าประกวดวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้าทุกท่าน และขอแสดงความยินดีกับเจ้าของผลงานที่ได้รับการตัดสินจากคณะกรรมการให้ได้รับรางวัลในปีนี้ ทั้งประเภทเรื่องสั้น และประเภทบทกวี การประกวดวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้าในปีนี้มีความพิเศษที่ได้ก้าวเดินมาถึงปีที่ 20 ใน 20 ปีที่ผ่านมาการเมืองไทยได้ผ่านเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ มากมาย ซึ่งแต่ละช่วงของเหตุการณ์นั้น ๆ จะสะท้อนอยู่ในบางส่วนของผลงานวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้าในแต่ละปี ซึ่งในปีนี้ นอกเหนือจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้การจัดงานมอบรางวัลต้องอยู่ภายใต้การป้องกันโรคอย่างจริงจัง ยังเกิดเหตุการณ์ที่เราต้องสูญเสียปูชนียบุคคลด้านภาษาศาสตร์ จึงขอแสดงความระลึกถึง ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ราชบัณทิต ซึ่งท่านเป็นหนึ่งในกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ตั่วแต่ปี 2558 จวบจนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา
นายชวน กล่าวต่อว่า โครงการพานแว่นฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมงานด้านวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยเฉพาะประชาธิปไตย ซึ่งเราหวังว่าจะเห็นผลงานเหล่านี้มีส่วนให้เกิดความรู้สึกที่เห็นภาพของการเมืองสุจริตเป็นเป้าหมายส่วนรวมของบ้านเมือง หากขาดซึ่งความสุจริต การเมืองก็ยากที่จะพัฒนาไปได้ถึงที่สุด ขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรได้ทำโครงการบ้านเมืองสุจริต ซึ่งหวังผลที่จะขยายความรู้ความเข้าใจและร่วมกันรณรงค์ในหมู่เยาวชนและประชาชนทั่วไปให้ตระหนักว่าบ้านเมืองจะอยู่รอดได้ก็ต่อเมื่อบ้านเมืองต้องบริหารด้วยความสุจริตทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ หรือองค์กรใด ๆ ทั้งในระดับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และหวังว่าผลงานวรรณกรรมเหล่านี้จะมีส่วนในการสนับสนุนความเป็นบ้านเมืองสุจริตตามที่ได้กล่าวมา และขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน และหวังว่าทุกท่านจะให้การสนับสนุนโครงการนี้ในอนาคตต่อไป