ฉีดวัคซีนเข็ม 3 ในผิวหนังสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี

2021-09-22 20:25:32

ฉีดวัคซีนเข็ม 3 ในผิวหนังสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี

Advertisement

"กรมวิทย์-มอ." เผยผลฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 เข้าในผิวหนังสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ยังไม่ใช้เป็นการทั่วไป

.เมื่อวันที่ 22 ก.ย. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ศึกษาการทดสอบภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยจากการได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 โดยทำการศึกษาในกลุ่มประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม และกระตุ้นเข็ม 3 เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า อายุระหว่าง 18 – 60 ปี 95 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 1 โดส (0.5 ml.)เข้ากล้ามเนื้อ 30 คน กลุ่มที่ 2 ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1/5 โดส (0.1 ml.) ฉีดเข้าในผิวหนัง 31 คน ระยะศึกษา 4-8 สัปดาห์ และกลุ่ม 3 ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1/5 โดส (0.1 ml.) ฉีดเข้าในผิวหนัง 34 คน ระยะศึกษา 8-12 สัปดาห์ โดยทำการศึกษาจากการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน และการตอบสนองของทีเซลล์  

ผลการศึกษา 14 วันหลังจากได้รับการกระตุ้นวัคซีนเข็มที่ 3 พบว่า กลุ่มที่ 1 ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 โดส เข้ากล้ามเนื้อ ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,652 AU (Arbitrary Unit ) ส่วนกลุ่มที่ 2 และ 3 ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1/5 โดส ฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,300.5 AU จากเดิมหลังฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มระดับภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 128.7 AU นอกจากนี้ระดับภูมิคุ้มกันในการยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของเชื้อไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์เดลตา การกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ฉีดเข้าในผิวหนังสามารถยับยั้งได้ถึง 234.4 AU จากเดิมที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ยับยั้งได้ 16.3 AU ส่วนการตอบสนองของเซลล์เม็ดเลือดขาวหรือทีเซลล์ต่อโปรตีนหนามแหลมของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีหน้าที่สู้กับไวรัสเมื่อไวรัสเข้าสู่เซลล์แล้ว พบว่า ทั้งสามกลุ่มมีการทำงานของทีเซลล์ต่อโปรตีนหนามแหลมที่ดีขึ้นกว่าเดิมที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม

นพ.ศุภกิจ  กล่าวว่า สำหรับอาการข้างเคียง 7 วันหลังการได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 พบว่า การฉีดในผิวหนังจะมีอาการแดง บวมและคัน มากกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ส่วนการฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะมีอาการปวดเมื่อย ปวดศีรษะ อ่อนเพลียและหนาวสั่นมากกว่าการฉีดในผิวหนัง ข้อดีของการฉีดวัคซีนเข้าในผิวหนังคือ มีคนที่ได้รับวัคซีนเป็นไข้ในอัตราส่วนที่ลดลงเมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีนเข้ากล้าม โดยที่ยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีพอๆ กัน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนเพราะใช้วัคซีนปริมาณน้อยกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ต้องเรียนกับประชาชนว่า วันนี้เรายังฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ในที่ประชุมอีโอซีมีมติว่า ยกเว้นพื้นไหน ที่ต้องการประหยัดวัคซีนและมีความพร้อม เช่น เจ้าหน้าที่ที่ฝึกทักษะมาแล้ว สามารถจัดการได้ เนื่องจากใช้เวลาต่อคนมากกว่า ขณะนี้มีการนำร่องฉีดที่ภูเก็ต

ด้าน ดร.นพ.นวมินทร์ ปิ่นปฐมรัฐ อาจารย์สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์และวิศกรรมชีวการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ภูมิคุ้มกันแอนติบอดี้ส่วนที่ 2 คือ ภูมิฯ ที่ตอบสนองต่อไวรัสในเซลล์ เราจะดู T Cell ที่ช่วยจัดการไวรัสหลังจากเข้าสู่ร่างกาย พบว่า ในผู้ที่รับซิโนแวค 2 เข็มเมื่อเอาโปรตีนหนามแหลมของไวรัสโคโรนา 2019 ไปกระตุ้น ได้ภูมิฯ 30 BAU/mL เมื่อกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ทั้งฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าในชั้นผิวหนังที่ใช้วัคซีนน้อยลง 1 ใน 5 ก็ได้ภูมิไม่ต่างกัน และมากกว่าการรับซิโนแวค 2 เข็มอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น สิ่งนี้ก็จะช่วยฆ่าไวรัสที่เข้ามาในเซลล์ได้ อย่างไรก็ตาม อาการทางผิวหนังหลังการฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง จะหายได้เองใน 7 วัน ไม่มีอาสาสมัครที่ต้องพบแพทย์ และยังไม่พบตุ่มหนอง หรือเนื้อตายในอาสาสมัคร