สธ.คาด 4 ต.ค.ฉีด "วัคซีนไฟเซอร์"เด็กนักเรียน

2021-09-17 17:31:46

สธ.คาด 4 ต.ค.ฉีด "วัคซีนไฟเซอร์"เด็กนักเรียน

Advertisement

เปิดไทม์ไลน์ฉีด "วัคซีนไฟเซอร์" เด็กอายุ  12-17 ปี 4 ต.ค.  มอบโรงเรียนให้ข้อมูลเสี่ยงเกิดอาการข้างเคียง ก่อนตัดสินใจให้ลูกหลานฉีดห้ามอ้างปมเด็กไม่ฉีดวัคซีนไม่ให้เข้าเรียน

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข  (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการฉีดวัคซีนในเด็กนักเรียนอายุ 12-17 ปี จะเน้นกลุ่มเปิดเรียนในเดือน พ.ย. กลุ่มเป้าหมายจากการประมาณการณ์ 4.5 ล้านคน แต่ขณะนี้ก็ยังมีการสำรวจอยู่ โดยคาดว่าจะเริ่มฉีดวันที่ 4 ต.ค. 2564 ในโรงเรียนในสังกัดภาครัฐและเอกชนหลักๆ เป็นสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม สถาบันการศึกษาปอเนาะ และโรงเรียนประเภทอื่นที่มีคนที่อยู่ในวัยนี้ 12-17 ปี รวมถึงกรณีเทียบเท่าเช่น ปวช. สำหรับเด็กชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 ที่อายุ เกิน 17 ปี ก็อนุโลมให้ได้ โดยสถานที่ฉีดคือที่โรงเรียน หรือสถานที่ที่สะดวก โดยมีรพ.หรือสถานพยาบาลใก้พื้นที่ หรือที่ประสานเอาไว้ร่วมดูแล ส่วนกรณีการเรียนนอกระบบ สามารถติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อขอรับการฉีดวัคซีนได้

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้ใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ ประสานยังโรงเรียนเพื่อประสานไปยังผู้ปกครองให้ทราบแผนการฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียน โดยต้องมีการให้ข้อมูลข้อดี ข้อเสียของวัคซีน ประกอบการตัดสินใจว่าจะยินยอมให้บุตรหลานฉีดวัคซีนหรือไม่ แล้วกรอกในเอกสารส่งกลับมาที่โรงเรียน ทั้งนี้เมื่อมีการฉีดแล้ว จะมีการติดตามการฉีดและการเฝ้าระวังอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 30 วัน โดยระยะแรกจะฉีดวัคซีน mRNAของไฟเซอร์ ส่วนระยะถัดไปอาจจะมีวัคซีนเชื้อตาย เช่น ซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม ที่อยู่ระหว่างการศึกษาในจีน หากมีการปรับเรื่องการขึ้นทะเบียนฉีดในเด็กได้แล้วไทยก็สามารถนำมาฉีดในเด็กได้ โดยไม่ต้องจัดซื้อเพิ่ม แต่อยู่จำนวนวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติแล้ว 12 ล้านโดส ดังนั้น หากผู้ปกครองยังไม่อยากให้เด็กฉีดวัคซีน mRNA ก็สามารถรอวัคซีนเชื้อตายได้ อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า การฉีดวัคซีนเป็นแบบสมัครใจ ไม่สามารถนำกรณีเด็กที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนไม่ไห้เข้าไปเรียนในโรงเรียนได้

"วัคซีน mRNA ทำให้มีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงได้คือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งข้อมูลในต่างประเทศที่ฉีดในเด็ก พบอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว 16 ราย ต่อการฉีด 1 ล้านโด๊ส ส่วนของประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์มาตั้งแต่ต้นเดือนส.ค. มีเด็กส่วนหนึ่งที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ตอนนี้ก็ยังมีการเฝ้าระวังอยู่ แต่ว่ามีการตรวจพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 1 ราย ตอนนี้รักษาหายแล้ว ย้ำว่าภาวะนี้สามานถรักษาได้ โดยเด็กอาจจะมีอาการหายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก เป็นต้น ดังนั้นเรื่องนี้ก็ต้องให้ข้อมูลกับผู้ปกครองได้รับทราบเพื่อประกอบการตัดสินใจจะให้เด็กฉีดวัคซีนหรือไม่ด้วย" รองอธิบดี คร. กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า การฉีดวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ 100% แต่ลดโอกาสในการติดเชื้ออาการรุนแรง ลดการแพร่กระจายเชื้อสู่สมาชิกในครอบครัวที่อาจจะมีผู้สูงอายุอยู่ในบ้าน ซึ่งในครอบครัวใดที่มีเด็กอยู่ด้วยก็จะแนะนำให้ผู้สูงอายุเข้ามารับวัคซีนเช่นเดียวกัน .