ทำความสะอาดทำลายเชื้อยุคโควิดระบาดหนัก
การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลกมีมากขึ้น ในขณะที่การรักษาในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเฉพาะกิจต่าง ๆ นั้นมีได้อย่างจำกัด ทำให้ต้องมีการดูแลตนเองที่บ้านระหว่างรอเตียงเข้ารับการรักษา นอกจากนี้บางสถานที่เช่นร้านอาหาร หรือที่ทำงานที่มีคนติดโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อนมีการปิดทำความสะอาดกัน จึงมีคำถามว่า มาตรฐานในการดูแลสภาพแวดล้อมหลังจากมีผู้ที่สัมผัสเชื้อมาอยู่หรือใช้บริเวณดังกล่าวควรทำอย่างไร และมีอะไรบ้างที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
ไวรัสซาร์โควีสองที่ก่อให้เกิดโควิด-19 นั้นเป็นไวรัสที่มีเยื่อหุ้มที่ทำจากโปรตีนและไขมันที่ห่อหุ้มสารพันธุกรรมไว้ภายใน เยื่อหุ้มเหล่านี้สามารถโดนทำลายได้อย่างรวดเร็วขณะนี้สัมผัสกับน้ำและสบู่ หรือสารทำความสะอาดวัตถุที่ไม่มีชีวิตที่ปนเปื้อนหรือสัมผัสกับสารติดเชื้อ
ความเสี่ยงของการติดเชื้อ
ส่วนใหญ่มักเกิดการติดต่อผ่านทางเดินหายใจโดยการไอ จาม หรือพูดคุย (droplet transmission) กับผู้ที่มีเชื้อในร่างกายโดยไม่ได้เว้นระยะห่าง และไม่ได้ป้องกันโดยการสวมหน้ากากอนามัย แต่ก็สามารถเกิดจากการสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสที่มีชีวิตอยู่ แล้วมาจับที่บริเวณหน้า (ปาก จมูก หรือตา) ได้ โดยความเสี่ยงแบบนี้จะเรียกว่า fomite-mediated transmission หรือ การติดต่อผ่านวัตถุที่ไม่มีชีวิตที่ปนเปื้อนหรือสัมผัสกับสารติดเชื้อ โดยความเสี่ยงจะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นกับหลายปัจจัย ได้แก่
1. อัตราการติดเชื้อในชุมชนนั้น ๆ
2. ปริมาณของไวรัสที่ผู้ติดเชื้อส่งผ่านออกมา แล้วมาตกอยู่บนพื้นผิวหรือ วัตถุที่ไม่มีชีวิตที่ปนเปื้อนหรือสัมผัสกับสารติดเชื้อ
3. การถ่ายเทอากาศ และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น ความร้อน และการระเหย ซึ่งจะทำลายส่วนประกอบต่าง ๆ ของไวรัส
4. ระยะเวลาระหว่างที่เริ่มมีเชื้อโรคบนพื้นผิว และเวลาที่คนมาสัมผัสพื้นผิว
5. ปริมาณของไวรัส และระยะเวลาระหว่างที่คนที่เอามือมาสัมผัสพื้นผิวจนกระทั่งเอามือที่ไม่ได้ทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์ไปจับบริเวณหน้า
สิ่งที่ควรทำ
การทำความสะอาดพื้นผิวด้วยน้ำและสบู่ หรือสารทำความสะอาดที่ได้มาตรฐาน ในบริเวณที่เป็นจุดสัมผัสบ่อย (high-touched surface) เช่น พื้นผิวครัว โต๊ะทำงาน สวิตช์ไฟ ที่จับบริเวณประตู ตัวล็อค ที่ชาร์ตอุปกรณ์ไฟฟ้า โทรศัพท์ และคอมพิวเตอร์เป็นต้น
สิ่งที่ควรระวัง ได้แก่
1. การใช้สารทำความสะอาดรอบคนที่มีโรคภูมิแพ้ หรือหอบหืด โดยพยายามหลีกเลี่ยงสารที่ทราบว่าแพ้ และให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก
2. อ่านฉลากให้ดี สารที่จะนำมาพ่นเป็นควัน หรือใช้สเปรย์ต้องมีคุณสมบัติที่สามารถทำให้เป็นอนมูลขนาดเล็กได้ และมีความเข้มข้นตามที่กำหนดไว้ อย่าละลายสารให้เจือจางเกินไปเพราะจะทำให้ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้หรือฆ่าได้เพียงบางส่วน เพราะความเข้มข้นไม่เพียงพอ
3. เก็บสารทำความสะอาด ให้ดี ให้พ้นมือเด็กเล็กหรือนักเรียนมาเล่นหรือใช้
4. ห้ามใช้สารที่ไม่ได้มาตรฐาน อย. อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาชวนเชื่อ เพราะทำให้เราเสียโอกาสในการใช้สารทำความสะอาดที่เหมาะสมและทำลายเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. อย่าใช้สารทำความสะอาดบนผิวคน สัตว์เลี้ยง หรืออาหารโดยตรง
สารทำความสะอาดที่ได้มาตรฐานสากล มีมากกว่า 500 ชนิด ตัวอย่าง active ingredients หรือสารที่มีฤทธิ์สำคัญ ได้แก่ Quaternary ammonium, hydrogen peroxide, phenolic, ethanol, sodium hypochlorite, hydrogen peroxide เป็นต้น สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://cfpub.epa.gov/wizards/disinfectants/
อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล