รมว.ทส. ภูมิใจยูเนสโกประกาศดอยหลวงเชียงดาว เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดแถลงข่าวกับสื่อมวลชน ณ ห้อง 101 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงผลการพิจารณาของสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) หลังที่ประชุมมีมติให้ขึ้นพื้นที่ดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก ณ เมืองอาบูจา ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2564 เวลา 13.00 น. ตรงกับเวลา 19.30 น.ในประเทศไทย
นายวราวุธ เปิดเผยว่า นับเป็นเวลา 45 ปีที่ประเทศไทยมีส่วนร่วมในโครงการมนุษย์และชีวมณฑลของยูเนสโก พื้นที่สงวนชีวมณฑลได้พัฒนาคุณค่าของการเป็นพื้นที่เพื่อการศึกษาวิจัยสู่พื้นที่แห่งการมีส่วนร่วมเพื่อการ พัฒนาที่ยั่งยืนตลอดเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยมีพื้นที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล จำนวน 4 แห่ง ต่างมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยที่มีพื้นที่ที่ได้รับความสำคัญในเชิงคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมในระดับสากล ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการสภาประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยโครงการด้านมนุษย์และชีวมณฑล ครั้งที่ 33 ณ เมืองอาบูจา สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2564 ที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้รับรองพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งที่ 5 ของประเทศไทย และเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายพื้นที่สงวนชีวมณฑลโลก พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่ที่มีความมหัศจรรย์ไม่เพียงแต่ในด้านของสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ และสัตว์ป่าเฉพาะถิ่นและหายาก แต่ยังรวมถึงความผูกพันทางจิตวิญญาณของผู้คนท้องถิ่นที่มีต่อดอยเชียงดาว ปราชญ์ ศิลปิน ผู้นำและชุมชนที่เข้มแข็ง เต็มเปี่ยมด้วยจิตสำนึกรักบ้านเกิดและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่จะส่งต่อให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ ด้วยศักยภาพของพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาวในการเป็นต้นแบบของ การบูรณาการความรู้ ทั้งด้านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (BCG Economy) การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมที่ยั่งยืน และแนวคิด เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ๆ ในระดับประเทศและสากล ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชาวเชียงดาวและ จ.เชียงใหม่
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้ดำเนินการเสนอพื้นที่ดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ ภายใต้โครงการมนุษย์และชีวมณฑลของยูเนสโก โดยหวังว่าสถานะของพื้นที่สงวนชีวมณฑลที่เป็นสากลจะเป็นประโยชน์ต่อชาวเชียงดาวในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ดี ให้อยู่คู่กับชาวเชียงดาวอย่างยั่งยืน บนฐานของทรัพยากรธรรมชาติที่มั่นคงในระยะยาว ในโอกาสนี้ขอขอบคุณทุกภาคส่วนในพื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้ร่วมสนับสนุนข้อมูลและสะท้อนคุณค่าอนันต์ของดอยเชียงดาวให้สากลรับทราบ การเสนอขึ้นทะเบียนพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาวในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวใหม่ของพื้นที่สงวนชีวมณฑลในประเทศไทย ที่จะส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการในการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนและสังคมไทยต่อไป
สำหรับพื้นที่ดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีความโดดเด่นด้านภูมิทัศน์ด้วยภูเขาหินปูนโดดเด่นตระหง่าน มีดอยหลวงเชียงดาวซึ่งเป็นยอดเขาสูงเป็นอันดับสามของประเทศไทย ในภาพรวมพื้นที่นำเสนอนี้เป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำปิงตอนบนโดยมีทั้งระบบนิเวศดั้งเดิมที่ได้รับการปกปักษ์รักษามาอย่างยาวนาน และพื้นที่ที่ได้รับการฟื้นฟูให้คืนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าไม้มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 40 ปี ธรรมชาติที่เป็นแกนกลางของพื้นที่ดอยเชียงดาวได้อำนวยนิเวศบริการแก่ชุมชนโดยรอบ มีสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ที่หาได้ยากยิ่งในประเทศไทย พื้นที่นำเสนอนี้เป็นถิ่นอาศัยของพรรณไม้มากกว่า 2,000 ชนิด หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของพรรณไม้ในประเทศไทย และมีพรรณไม้ที่เชื่อมโยงให้เห็นว่าภูมิประเทศนี้ทอดยาวลงมาจากตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย ที่ราบสูง Quinhai-Tibet และจีนตอนใต้ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า จำนวน 672 ชนิด จาก 358 สกุล ใน 91 วงศ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวซึ่งเป็นหัวใจของทรัพยากรธรรมชาติ
นอกจากนี้พื้นที่เป็นแหล่งอาศัยที่ปลอดภัยของสัตว์ป่าสงวน ได้แก่ กวางผา และเลียงผา รวมถึงสัตว์ป่าคุ้มครองอีกหลายชนิด และมีความเป็นไปได้สูงที่จะค้นพบพืชและสัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกได้ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคนเชียงดาวถึงความสำเร็จในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่เชียงดาวมีประวัติการตั้งถิ่นฐานของผู้คนมาเป็นเวลามากกว่า 600 ปี ดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อาทิ วัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่ ม้ง มูเซอ ลีซอ ปกากะญอ และวัฒนธรรมล้านนา ซึ่งแต่ละกลุ่มสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ พื้นที่ดอยเชียงดาวยังมีความสำคัญต่อจิตวิญญาณของผู้คนในล้านนา ความเชื่อเกี่ยวกับ เจ้าหลวงคำ แดงซึ่งสถิตอยู่บนดอยหลวงเชียงดาว ตำนานถ้ำเชียงดาว ที่ปรากฏในหลายสำนวนกระจายกันอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือของไทย และเชื่อว่าเจ้าหลวงคำแดงเป็นสัญลักษณ์ร่วมของชนเผ่าไทในลุ่มน้ำโขงอีกด้วย ตำนานเจ้าหลวงคำแดงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2555 นอกจากนี้ ในพื้นที่ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สามารถส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ได้
การพัฒนาสังคมของพื้นที่ในภาพรวมเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยวิถีเรียบง่ายไม่เร่งรีบ ยึดถือความเป็นล้านนา ที่มีดอยหลวงเชียงดาวเป็นศูนย์รวมจิตใจ พื้นที่ธรรมชาติที่ใหญ่เพียงพอต่อการเป็นหลักประกันความมั่นคงทางบริการนิเวศให้กับกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ กิจกรรมในพื้นที่ปัจจุบัน เช่น การคุ้มครองปกป้องระบบนิเวศ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน การส่งเสริมวิถีคนอยู่ร่วมกับป่า การสร้างความรู้ความเข้าใจธรรมชาติวิทยาแก่สาธารณชน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การค้าและพาณิชย์ การเกษตรและที่ทำกิน และการบริการและท่องเที่ยว อยู่บนแผนการพัฒนาของอำเภอและท้องถิ่นที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ชาติ
การเติบโตของอำเภอเชียงดาวเป็นไปอย่างระมัดระวัง และเสียงประชาชนมีความหมายกับการตัดสินใจ เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมเป็นการศึกษาธรรมชาติยอดดอยหลวงเชียงดาวภายใต้การควบคุมเข้มข้น ชุมชนเชียงดาวมีความยินดีและต้อนรับการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่วิถีดำเนินชีวิตและการประกอบกิจการ รวมถึงการพัฒนาวิถีการเกษตรของตน แนวคิดการจัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑลของ UNESCO ที่สอดคล้องเกี่ยวกับแนวทางการดำรงชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะสามารถนำมาเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาของอำเภอและท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
พื้นที่นำเสนอมีความพร้อมที่เอื้อต่อการวิจัยในพื้นที่ เนื่องจากมีสถานีวิจัยในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีประสบการณ์โดดเด่นในการจัดการพื้นที่คุ้มครองเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าโดยเฉพาะความสำเร็จในการอนุรักษ์กวางผาในถิ่นที่อยู่ นอกจากนี้ ในพื้นที่ยังมีสถานีวิจัยต้นน้ำ และสถานีวิจัยเกษตรพื้นที่สูง ศักยภาพของพื้นที่ในการเป็นแหล่งเรียนรู้สามารถจัดแบ่งออกได้เป็น 9 กลุ่ม ได้แก่ 1) แหล่งเรียนรู้ด้านระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ 2) แหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการพื้นที่คุ้มครองในระดับภูมิทัศน์ 3) เรียนรู้ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไทย และชาวเขาพื้นที่สูง โดยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 4) แหล่งเรียนรู้ศิลปะล้านนา และงานศิลปะ การดนตรี และการแสดง 5) แหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการทรัพยากร และระบบนิเวศต้นน้ำโดยชุมชน 6) แหล่งรวมการทำงานของจิตอาสา โดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาวจากหลากหลายอาชีพ ที่เป็นลูกหลานชาวเชียงดาวที่กลับมาพัฒนาบ้านเกิด 7) แหล่งค้นคว้าและศึกษาโบราณคดี 8) การเป็นแหล่งเรียนรู้และส่งผ่านความรู้ด้านการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และ 9) แหล่งศึกษาและปฏิบัติธรรม กล่าวถึงกิจกรรมของพระพุทธศาสนาตามวิถีชาวล้านนา
การจัดการเชิงพื้นที่ พื้นที่นำเสนอมีพื้นที่รวม 85,909.04 เฮกแตร์ (536,931 ไร่) ซึ่งเป็นการกำหนดเขตเพื่อการส่งเสริมให้เกิดการจัดการที่ยั่งยืน โดยไม่กระทบกับการบังคับใช้กฎหมายและการปกครองที่มีอยู่ พื้นที่แกนกลางและพื้นที่กันชนจัดการโดยใช้ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มีคณะกรรมการที่ปรึกษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ในส่วนของพื้นที่รอบนอก การบริหารจัดการจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของส่วนราชการภูมิภาคและท้องถิ่น ที่ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมความเสมอภาคของทุกเพศ ทุกวัย และการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่สงวนชีวมณฑลในอนาคต
การจัดตั้งพื้นที่สงวนชีวมณฑลคาดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น หลายด้าน อาทิ การถ่ายทอดความรู้ด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม การส่งเสริมการพัฒนาการให้บริการที่เป็นมืออาชีพทั้งด้านการท่องเที่ยว และการศึกษาธรรมชาติ การเพิ่มช่องทางการตลาดของสินค้า ผลิตภัณฑ์และการบริการที่ผลิตในพื้นที่นำเสนอ ด้วยการควบคุมคุณภาพของสินค้าภายใต้การเป็นแหล่งสงวนชีวมณฑล การรักษาสภาพแวดล้อมที่ดี และความอุดมสมบูรณ์ไว้ให้ประชาชน เกิดการบูรณาการกิจกรรมของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ตอบสนองเป้าหมายร่วมให้ พื้นที่เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน การอนุรักษ์ระบบนิเวศ การพัฒนาสังคมเศรษฐกิจของชุมชน และการถ่ายทอดความรู้และวิทยาการต่าง ๆ ไปยังเครือข่ายพื้นที่สงวน ชีวมณฑลอื่น ๆ ทั่วโลก และ เป็นความภาคภูมิใจในถิ่นฐานบ้านเกิดที่ได้รับความสำคัญในระดับสากล