"สัณหพจน์"ลุยแก้ปัญหาปาล์มน้ำมันภาคใต้

2021-09-15 20:12:11

"สัณหพจน์"ลุยแก้ปัญหาปาล์มน้ำมันภาคใต้

Advertisement

"สัณหพจน์"ลุยแก้ปัญหาปาล์มน้ำมันภาคใต้ เบรกผลศึกษากรมการค้าภายใน

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ดร.สัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 2  พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาโครงสร้างราคาการตรวจสอบการลักลอบการนำเข้าน้ำมันปาล์ม และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ (กมธ.ปาล์มน้ำมัน) เปิดเผยว่า ตนได้ลงพื้นที่ จ.กระบี่ พร้อม กมธ. เพื่อตรวจสอบกระบวนการและโครงสร้างการรับซื้อปาล์มน้ำมันดิบ และปัญหาหนี้สินของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด ทั้งนี้ความคืบหน้า กรณีปัญหาขาดทุนของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด ซึ่งอยู่ในระหว่างการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถึงเรื่องความโปร่งใสในการบริหารสำหรับกรณีปัญหาดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสหกรณ์ปาล์มน้ำมันจำนวน 13 แห่ง ในพื้นที่ภาคใต้รวม 5 จังหวัดได้แก่ จ.กระบี่ ตรัง พังงา สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งมีสมาชิกกว่า 20,000 คน รวมไปถึง เจ้าหน้าที่และแรงงาน ของชุมนุมสหกรณ์ฯ เอง และเจ้าหนี้ซึ่งเป็นสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนอีก 17 แห่ง ซึ่งชุมนุมสหกรณ์ฯ ได้ค้างชำระหนี้ค่าผลปาล์มสดกว่า 31 ล้านบาท


“ปัญหาเรื่องการจัดการหนี้สินของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด ซึ่งมีหนี้สินกว่า 1,000 ล้านบาท จึงทำให้ต้องมีการขายโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันเพิ่ม เป็นแห่งที่ 2 แต่ก็ปรากฏว่า กรรมการฯ ยังไม่ความเข้าใจในส่วนกฎหมาย พ.ร.บ.สหกรณ์ มาตรา 20 ถ้าที่ประชุมใหญ่หรือที่ประชุมคณะกรรมการดําเนินการสหกรณ์ ลงมติอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อบังคับระเบียบของสหกรณ์ ระเบียบหรือคําสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ ให้นายทะเบียนสหกรณ์ หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์มีอํานาจสั่งยับยั้งหรือเพิกถอนมตินั้นได้ กมธ.จึงได้เชิญ นายประกอบ เผ่าพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้ข้อมูลและดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง โดยมีประเด็นเรื่อง การเป็นกรรมการ มีหน้าที่กำหนดราคาซื้อขายโรงงานเอง และซื้อขายให้กับบริษัทที่ตนเองเป็นกรรมการมีอำนาจลงนามเอง โดยไม่ผ่านมติของที่ประชุมใหญ่ที่มีสมาชิกกว่า 20,000 คน ซึ่งผิดหลักการตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้เป็นอำนาจของอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่จะต้องเข้าไปดูแล และให้ความเป็นธรรมกับพี่น้องเกษตรกร ในส่วนของการจ่ายหนี้สินพบว่า ชุมนุมสหกรณ์ มีหนี้สินที่ค้างชำระให้กับ ธ.ก.ส. เกือบ 700 ล้านบาท ที่สำคัญยังเป็นหนี้ค้างชำระค่าผลปาล์มสด กับสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนอีก 17 แห่งมูลค่ากว่า 31 ล้านบาท รวมทั้งเจ้าหน้าที่และแรงงานอีก 323 คน กว่า 63 ล้านบาท โดยเฉพาะหนี้ของชาวสวนปาล์มน้ำมัน เจ้าหน้าที่และแรงงานนั้น ผมได้ให้ความคิดเห็นว่าควรจะต้องได้รับการเยียวยาก่อนเป็นอันดับแรก” ดร.สัณหพจน์ กล่าว


ดร.สัณหพจน์ กล่าวด้วยว่า กรณีนี้ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง เนื่องจากมีผู้เสียหายทั้งในส่วนของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ 13 แห่ง ในชุมนุมสหกรณ์ฯ และสหกรณ์-วิสาหกิจชุมชนซึ่งเป็นเจ้าหนี้อีก 17 แห่ง รวมผู้ได้รับผลกระทบอาจสูงถึง 20,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร เจ้าหน้าที่และแรงงาน ที่มีรายได้หลักของครอบครัวจากส่วนนี้ ดังนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบจำเป็นที่จะต้องเข้ามาตรวจสอบดูแลอย่างจริงจัง ด้านเรื่องของการปรับโครงสร้างราคาปาล์มน้ำมัน แม้ว่าปัจจุบันราคาปาล์มทะลายจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจาก อนุกมธ. ตรวจสอบการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศอย่างจริงจัง รวมถึงนโยบายการส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มของรัฐบาล แต่คณะอนุกมธ.เห็นว่า ยังต้องมีการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันปาล์มทั้งระบบ เพื่อให้คงราคาในต่ำกว่า 5 บาท ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืน กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ “มาเลเซียโมเดล” ที่พบว่ามีการวิเคราะห์และจัดทำโครงสร้างราคาผลผลิตจากปาล์มน้ำมันทั้งระบบ โดยใช้เปอร์เซ็นต์การให้น้ำมัน (Oil Extraction Rate : OER) ซึ่งเป็นค่าที่บอกถึงความสามารถการให้น้ำมันปาล์มของผลปาล์ม และจ่ายราคาในแต่ละส่วน เช่น ชั้นเนื้อปาล์ม (Mesocarp) มี %OER ที่ 24% ชั้นกะลา (Shell) มี %OER เฉลี่ยที่ 7% และชั้นเมล็ดใน (Kernel) มี %OER ที่เฉลี่ย 6% แต่ต้องไม่ใช่การศึกษาและจัดทำโครงสร้างจากข้อมูลต้นทุนการผลิตของโรงงานผลิตน้ำมันปาล์ม

“ที่ผ่านมากรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ทำการศึกษาข้อสรุปของโครงสร้างราคาน้ำมันปาล์มทั้งระบบในประเทศ โดยวิเคราะห์จากข้อมูลต้นทุนการผลิตของโรงงานบีบสกัดน้ำมันปาล์มกว่า 30 แห่ง แล้วเอามาหาค่าเฉลี่ย เพื่อคิดเป็นต้นทุนค่าผลิต ซึ่งผิดต่อหลักการที่จะเอามาใช้เป็นสูตรในการคำนวณโครงสร้างราคา โดยค่าบีบน้ำมัน โรงงานของไทยที่เสนอมาอยู่ที่ 3-5 บาท ในขณะที่มาเลเซีย มีราคาค่าบีบน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 1.50 บาท/กก. กมธ.ตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย หรือสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในภาคใต้ ซึ่งอยู่ในพื้นที่และมีผลงานการศึกษาวิจัยเรื่องของปาล์มน้ำมัน เป็นจำนวนมาก เหตุใดจึงไม่ว่าจ้างให้ทำการศึกษา โดยที่กรมการค้าภายในไม่ยอมเข้าให้ข้อมูลในกรณีดังกล่าว และอ้างว่า จะต้องให้คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) อนุมัติเสียก่อน จึงเป็นที่น่าสงสัย ถึงความโปร่งใส และความจริงใจในการทำงานของกรมการค้าภายใน ต่อการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ดังนั้นเมื่อนำโครงสร้างราคาที่ตั้งต้นมาจากต้นทุนผลิตของโรงงาน มาใช้ในการรับซื้อผลปาล์มดิบ ผลประโยชน์จะตกอยู่ที่โรงงาน ทำให้โรงงานน้ำมันปาล์มในไทย คืนทุนเร็วภายใน 4 ปี มีกำไรกว่า 100 ล้านในทุกปี แต่พี่น้องเกษตรกรกลับไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อพี่น้องเกษตรกรอยู่ไม่ได้ เลิกทำสวนปาล์ม เพราะต้นทุนการปลูกสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาปุ๋ย และค่าจ้างแรงงาน บวกกับโรงงานกดราคารับซื้อ ก็จะไม่มีผลผลิตเข้าไปป้อนโรงงาน ซึ่งจะกระทบต่ออุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร แรงงาน โรงงานน้ำมันปาล์ม รวมทั้งประชาชนทั้งประเทศซึ่งเป็นผู้บริโภค” ดร.สัณหพจน์ กล่าว