"เสรีพิศุทธ์"ส่ง "ทนายอนันต์ชัย"ฟ้อง "ศรีสุวรรณ"หมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหาย 10 ล้านบาท ปมร้อง ป.ป.ช.สอบจริธรรม
เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความ รับมอบอำนาจจาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เป็นโจทก์ นำหลักฐานมายื่นฟ้องนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เป็นจำเลย ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย 10 ล้านบาท โดยนายอนันต์ชัย กล่าวว่า วันนี้นำหลักฐานที่นายศรีสุวรรณ ไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ผ่านมา ให้สอบจริยธรรมร้ายแรง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เมื่อวันที่ 3-5 ส.ค. โดยกล่าวหาว่าทิ้งหิน ดิน ล่วงล้ำลำน้ำแควน้อยเกินกว่าแนวเขตที่ดินของตนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า ซึ่งประเด็นแรก นายศรีสุวรรณ กล่าวหาว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ผิดจริยธรรมร้ายแรง คือมาตรฐานจริยธรรม พ.ศ.2561 ข้อ 7 ต้องถือผลประโยชน์ประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน ข้อ 11 ไม่กระทำการอันเป็นอันขัดขวางระหว่างประโยชน์ส่วนตน และประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าทางตรงหรืออ้อม และ ข้อ 27 เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ในวรรคที่ 2 คนที่จะกระทำความผิดฐานนี้ได้ต้องเป็นนักการเมืองในขณะนั้น แต่ไม่ได้ดูว่าที่ดินแปลงที่พิพาทที่มีการกล่าวหาว่ารุกล้ำลำน้ำหรือไม่ ซึ่งพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ซื้อที่ดินดังกล่าวมาเมื่อปี 2535 มีการถมหินในปี 2544 แล้วมีการออกโฉนดเมื่อปี 2549 หลังจากนั้นได้โอนที่ดินให้กับลูก ๆ ในปี 2557 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่แล้ว แล้วจะผิดจริยธรรมได้อย่างไร ส่วนจะรุกล้ำหรือไม่นั้นก็ต้องไปตรวจสอบกัน
นายอนันต์ชัย กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นเรื่องรุกล้ำลำน้ำ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ซื้อที่ดินมาตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งในขณะนั้นเป็นที่ดิน น.ส.3 ซึ่งในช่วง 2527 มีการเปิดใช้เขื่อนเขาแหลม เปิดน้ำช่วงเช้า-เย็น ทำให้เกิดคุ้งน้ำ แล้วเซาะเข้าไป ต้นไม้ล้ม พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จึงแจ้งกับกรมเจ้าท่าว่าจะขอถมที่ในส่วนที่น้ำเซาะเข้าได้หรือไม่ กรมเจ้าท่าจึงเข้ามาวางแนว และถมหินตามนั้น จนในปี 2549-2550 มีการรังวัดโฉนด เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า และสำนักงานที่ดินเข้าไปชี้เขต ก็ไม่มีปัญหา ไม่มีการคัดค้าน แต่เมื่อปี 2551 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ โดนปลดจากตำแหน่ง ผบ.ตร. มีผู้ไม่ประสงค์ดี ร้องเรียนไปยัง ผวจ.กาญจนบุรี ว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ถมหินรุกล้ำลำน้ำ และมีการตั้งคณะกรรมการสอบขึ้นมา ซึ่งผลออกมาว่าทุกอย่างถูกต้องหมด จึงยกไป ต่อมาในปี 2551 มีการเข้ามาตรวจสอบ แล้วบอกว่ารุกล้ำ และให้รื้อภายใน 30 วัน ขณะนั้นพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ถูกย้ายไปประจำสำนักนายรัฐมนตรี หลังจากนั้นก็อุทธรณ์ไปยังปลัดกระทรวงคมนาคม ถูกยก จึงฟ้องไปยังศาลปกครอง และถูกตัดสินว่ารุกล้ำ จึงรื้อถอน ระหว่างนั้นพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็ถูกฟ้องคดีอาญา ซึ่งตำรวจ อัยการสั่งไม่ฟ้อง เสร็จสิ้นคดีปี 2556 คือขาดเจตนา ซึ่งคดีนี้แยกเป็น 2 ส่วนคือคดีแพ่ง และอาญา โดยคดีอาญาขาดเจตนา ถือว่าจบแล้ว ส่วนคดีแพ่งก็ว่าไปตามกระบวนการ ซึ่งกระบวนการรื้อถอนไม่ใช่ง่ายๆ เพราะการถมที่ ใครจะเป็นคนออกค่ารื้อถอน แล้วจากตรงไหนถึงจุดไหน แต่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินแล้ว