"สุชาติ"ฟันธงรัฐบาลขาลงไม่ยุบสภา​ก็ลาออก

2021-09-10 15:13:02

 "สุชาติ"ฟันธงรัฐบาลขาลงไม่ยุบสภา​ก็ลาออก

Advertisement

"สุชาติ"ชี้ "รัฐบาลประยุทธ์" ขาลงไม่ยุบสภา​ก็ต้องลาออก โอกาสกลับมาเป็นนายกฯ​ยาก

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ศ.ร.สุชาติ​ ​ธา​ดา​ธำ​รง​เวช​ ​อดีต รมว.คลัง​ และอดีตหัวหน้าพรรค​เพื่อไทย​ กล่าวว่า 1) การอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ผ่านไปแล้ว โดยนายกรัฐมนตรี​ ไหวตัวทัน สามารถพลิกเสียงโหวตได้หวุดหวิด ทำให้ได้รับคะแนน+ไว้วางใจ และอยู่ต่อไปได้ แต่ก็ได้ปลดรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ​ออกถึง​ 2 คน​ ที่แสดงอาการจะไม่โหวตให้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์​ จึงเป็นช่วงขาลงแล้ว อำนาจและบารมีลดลงอย่างมาก 2) ความจริงได้มีสัญญาณมากว่า​ 1 ปีแล้วว่า ผู้มีอำนาจปกครองประเทศ​ ในทุกระดับ​ ไม่พึงพอใจ​ ในผลงานของพลเอกประยุทธ์ อันเนื่องมาจากตัดสินใจผิดอยู่เสมอ ใช้ท่าทีที่แข็งกร้าว ไม่สุภาพ ไม่เป็นมิตรกับประชาชน ไม่มีความน่าเชื่อถือ ทำให้การลงทุนหดหายไปหมด แม้จากนักลงทุนในประเทศเอง ระบบเศรษฐกิจจึงไม่เจริญเติบโต ทำให้ประชาชนไทยเดือดร้อน ยากจนมาก เด็กๆ คนรุ่นใหม่ มองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง จึงประท้วงเรียกร้องให้เปลี่ยนนายกรัฐมนตรี ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มี สิทธิเสรีภาพ มีความเป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันไม่มี ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศชาติมีอนาคต แต่รัฐบาลก็ให้ตำรวจเอาปืนกระสุนยาง เอาแก๊สน้ำตา มายิงใส่ประชาชน จนแทบไม่มีใครชื่นชอบรัฐบาลเลย

3) เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 นายกรัฐมนตรี​ ก็ตัดสินใจผิดหลายครั้งหลายหน​ อย่างไม่น่าเชื่อ เช่น​ ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด​ ในระลอกที่​ 4 ได้สั่งปิดไซต์งานก่อสร้าง ให้แรงงานเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด ก่อนที่จะมีการตรวจหาเชื้อและฉีดวัคซีน ทำให้เชื้อกระจายไปทั่วประเทศ​ มีผู้ป่วยสะสมกว่า​ 1.3 ล้านคน​ ผู้เสียชีวิตกว่า 13,500 คน วัคซีนก็ซื้อมาในราคาแพงมาก แต่ประสิทธิภาพต่ำ มีไม่เพียงพอ เครื่องตรวจหาเชื้อ ATK ก็มีไม่พอ จึงมีคนล้มตายจำนวนมาก การจัดซื้อวัคซีนในราคาแพง เหมือนมีการทุจริต คนไทยทั่วประเทศ และผู้ปกครองทุกระดับจึงต้องการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี

4) ความจริงมีการส่งสัญญาณจากผู้ใหญ่ระดับสูงๆ​ ให้นายกรัฐมนตรีลาออกหลายครั้ง แต่ก็มีการบ่ายเบี่ยงไม่รับรู้ จึงเป็นเหตุให้มีหน่วยกล้าตาย ในพรรคพลังประชารัฐพยายามส่งเสียง แต่กลุ่ม 3 ป. ก็ไม่รับสัญญาณ ดิ้นรนจนสามารถเปลี่ยนเสียงโหวตให้ไว้วางใจได้

5) ถึงวันนี้ ทางเลือกของนายกรัฐมนตรีคงต้องยุบสภา หรือไม่ก็ลาออก เพราะเหตุการณ์โกลาหลในการลงมติครั้งนี้ น่าจะส่งสัญญาณให้พล.อ.ประยุทธ์ได้คิด จึงเริ่มปล่อยอำนาจ เช่น ยุบ ศบค. ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ควบคุมการโควิด-19 แต่แท้จริงคือควบคุมประชาชน โดยจะให้หน่วยงานตามกฎหมายเข้ามาดูแล และคงต้องปล่อยอำนาจอีกหลายๆ เรื่อง ทางเดียวที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง​ ก็คือการยุบสภา ไม่เช่นนั้น ผู้มีอำนาจมากกว่า ก็อาจบอกให้ลาออก เพราะเสียหายมามากมายแล้ว หากอุ้มกันต่อไป​ คงแย่ไปด้วยกันแน่ๆ

6) เรื่องที่คิดว่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่ง คงหมดโอกาสแล้ว เนื่องจากทำตัวเป็นเจ้านายประชาชน ไม่ใช่ผู้รับใช้ประชาชน จึงไม่มีประชาชนอุ้มชู วันนี้หมดสมัยแล้วที่รัฐบาลจะไม่รับใช้ประชาชน​