กรมวิทย์ยังไม่พบโควิดสายพันธุ์ MU-C.1.2 ในไทย

2021-09-06 16:06:46

กรมวิทย์ยังไม่พบโควิดสายพันธุ์ MU-C.1.2 ในไทย

Advertisement

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยยังไม่พบโควิดสายพันธุ์ MU-C.1.2 ในไทย  พบเชื้อกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง  "แพร่เร็ว-หลบวัคซีน" ย้ำทั่วโลกยังเจอน้อย ส่วน “ลูกพันธุ์เดลตา” ในไทย พบเพิ่มเล็กน้อยไม่น่ากังวล 

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวสถานการณ์สายพันธุ์โรคโควิด – 19 ในประเทศไทย ผ่านระบบออนไลน์ ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาตรวจ 1.5 พันตัวอย่าง พบว่าวันนี้ภาพรวมประเทศ 93% เป็นสายพันธุ์เดลตา เฉพาะกทม. 98% ส่วนภูมิภาคส่วนใหญ่พบเดลตา 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่ภาคใต้เนื่องจากมีเชื้อเบตาด้วยเลยทำให้พบเดลตา 85% อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เชื้อเบตายังคงพบเฉพาะที่ภาคใต้ สัปดาห์ล่าสุดพบเฉพาะเขต 12 นราธิวาส 28 ราย ปัตตานี 2 ราย ยะลา 1 ราย

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ตั้งแต่ที่มีการระบาดของโควิด -19 มาจนถึงวันนี้ ประเทศไทยมีการตรวจความจำเพาะของสายพันธุ์ และตรวจพันธุ์กรรมทั้งตัว ไปแล้วกว่า 12,575,261 ตัวอย่าง อย่างไรก็ตาม มีจำนวนหนึ่งอาจจะไม่ได้รายงานเข้าระบบ เข้าใจว่ามีการตรวจไปถึง 15 ล้านรายด้วยซ้ำไป ตั้งแต่สายพันธุ์เริ่มจากอู่ฮั่น และเป็นเชื้อที่วัคซีนทุกเจ้าใช้ทำวัคซีน ถัดมาเป็นสายพันธุ์จีที่สนามมวย สมุทรสาครเป็นสายพันธุ์จีอีกประเภทหนึ่ง สายพันธุ์อัลฟ่า จากนั้นปลายพ.ค. 2564 เป็นเชื้อเดลตา จนถึงปัจจุบันสายพันธุ์เดลตาครองเมือง ทั้งนี้การกลายพันธุ์เกิดขึ้นตลอด วันนี้มีเป็นหางว่าว เป็นร้อยสายพันธุ์ แต่องค์การอนามัยโลกได้มีการจัดชั้นของสายพันธุ์เริ่มต้น เป็นการกลายพันธุ์ที่อยู่ในความสนใจ (VOI) เช่น มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่อาจจะมีปัญหา กลายพันธุ์ในตำแหน่งที่อาจจะดื้อ หรือหลบวัคซีน หรือมีความผิดปกติ บางพื้นที่พบมากกระทันหัน เป็นต้น อีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่าสายพันธุ์น่าห่วงกังวล (VOC) ยังมี 4 สายพันธุ์ คือ 1.อัลฟา 2.เดลตา 3. เบตา และ4.แกรมมา หรือบราซิลเดิม แต่ไม่พบในประเทศไทย เคยพบในสเตทควอรันทีน แต่ไม่ได้หลุดออกไป ดังนั้น ในประเทศไทยจังมีเพียง อัลฟา เดลตา เบตา ซึ่งมี มีอิทธิฤทธิ์ต่างกัน เช่น เดลตา แพร่เร็วมากหลบภูมิ หลบวัคซีนนิดหน่อย ส่วนเบตา แกรมมา หลบภูมิสูง แต่อำนาจการแพร่เชื้อไม่สูง  โดยสรุปส่วนสายพันธุ์ MU ยังถูกจัดชั้นเป็นสายพันธุ์น่าสนใจเท่านั้น ยังไม่ถึงกับห่วงกังวล ส่วนสายพันธุ์ ส่วน c .1.2 นั้น ยังไม่ได้ถูกจัดชั้น และยังไม่ได้กำหนดชื่อกลางโดยองค์การอนามัยโลก

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า สำหรับสายพันธุ์ C.1.2 เป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจ เนื่องจากพบการกลายพันธุ์ใจจุดที่เคยอยู่ในสายพันธุ์อื่นๆ เช่น ตำแหน่ง D 215 G ของเชื้อเบตา, ตำแหน่ง E484K ของสายพันธุ์แกรมมาและเบตา ซึ่งดื้อต่อวัคซีนหรือหลบภูมิ, ตำแหน่ง N501Y ของสายพันธุ์อัลฟา ที่ทำให้มีการแพร่เชื้อเร็ว และ ตำแหน่ง H655Y ของสายพันธุ์แกรมมา ดังนั้นเป็นสายพันธุ์ที่ต้องจับตาแล้วในตอนนี้ แต่ยังค่อนข้างจำกัด ทั้งโลกพบเยอะที่แอฟริกาใต้ 117 ราย อังกฤษ 4 ราย นิวซีแลนด์ 1 ราย สวอสเซอร์แลนด์ 1 ราย และจีน 1 ราย C.1.2 มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งมาก เพียงแต่เรายังไม่ต้องตระหนักอะไรเนื่องจากยัง พบ 3 % ที่เจอทั้งโลก ประเทศไทยขีดเส้นใต้สองเส้น เรามีการเฝ้าระวังทั้งหมด มีการตรวจพันธุ์กรรมโดยเครือข่ายเรายังไม่เจอสายพันธุ์นี้”อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว

สำหรับสายพันธุ์ MU หรือ B.1.621 ก็มีการกลายพันธุ์ในบางตำแหน่งที่น่าสนใจเหมือนกันว่าจะมีการดื้อวัคซีน หรือจะแพร่ได้เร็วหรือไม่ แต่ทั่วโลกเจอน้อยมาก อเมริกาเจอ 2.4 ตัวอย่าง โคลัมเบียร์ 965 ราย พบในประเทศเขาเองกว่า 40% จึงน่าสนใจ และติดตามดู เม็กซิโก 367 ราย สเปน 512 ราย เอกวาดอร์ 170 ราย ทั้งนี้เมื่อ MU มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง E484K ซึ่งตำแหน่งนี้มักตามมาด้วยการดื้อ เทียบกับเชื้ออัลฟาดื้อวัคซีน หรือหลบภูมิ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป ส่วนจะแพร่เร็วหรือไม่นั้นยังไม่ยืนยัน การติดเชื้อง่ายหรือไม่นั้น ยังไม่มีข้อมูลมากพอ ส่วนกลายพันธุ์แล้วมีปัญหานั้นแต่ยังไม่มีหลักฐานว่าคนติดเชื้อหายแล้วมาติดเชื้อ MU หรือไม่ ขณะที่ต้านวัคซีนยังให้เกรดต่ำอยู่ ดังนั้นโดยรวมยังไม่น่าวิตกกังวล แต่ต้องติดตาม

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยเฝ้าระวังสายพันธุ์นั้นมีการตรวจสัปดาห์พันกว่าราย ใช้น้ำยาเจาะจงสายพันธุ์ และตรวจพันธุ์กรรมทั้งตัวครอบคลุม 3 หมื่นตำแหน่ง ดังนั้นเมื่อมีการตรวจพบเชื้อที่ต่างๆ หรือมีคลัสเตอร์แปลกๆ เช่น แคมป์คนงาน เป็นการสุ่มตรวจเพื่อหาเชื้อใหม่ๆ ที่อาจจะหลุดเข้ามา แต่ไม่ได้เป็นตัวบอกการติดเชื้อทั้งหมดในประเทศไทย ดังนั้นจะปรับกลุ่มเป้าหมายว่าควรเป็นกลุ่มใด จะมีการตรวจให้เยอะขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้สะท้อนภาพสายพันธุ์ที่มีการระบาดในไทย และการดักสายพันธุ์เข้ามาใหม่ให้เจอ โดยมีความร่วมมือเพิ่มเติมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากวันนี้ไปจนถึงเดือนธ.ค.นี้ ตั้งเป้าตรวจให้ได้ 1 หมื่นตัวอย่าง ทุกพื้นที่ ซึ่งจะตรวจตามสายพันธุ์ เช่น ตอนนี้จะตรวจภูเก็ตมากขึ้น เพื่อให้พบประสิทธิผลของวัคซีนมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม จากนี้จะมีการรายงานการตรวจเข้าระบบ GISAID ทุก 2 สัปดาห์ อาจจะมีการพบสายพันธุ์ใหม่ๆ ครั้งแรกในไทยได้ ขออย่ากังวล เพราะเป็นกติกาสากล สายพันธุ์ AY.12 ไทยใน ที่เป็นลูกของสายพันธุ์เดลตา นั้นขณะนี้พบเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ได้รายงานในวันนี้เพราะกำลังคุยกับทาง GISIAD เขาบอกว่าที่เราใส่รหัส AY.12 นั้นอาจจะไม่ถูกต้อง อาจจะต้องเป็น AY.30 จึงขอเคลียร์ข้อมูลระดับโลกก่อน จึงจะรายงานให้ทราบอีกครั้ง ว่าลูกของเดลตานั้นจะเป็นอย่างไร แต่วันนี้ยังไม่มีปัญหาอะไร เพราะการดูแลรักษา เหมือนเดิม ผู้ติดเชื้อที่รายงานไปครั้งที่แล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไรไม่น่าวิตกกังวลอะไร