"ศักดิ์สยาม" แจงยิบ 9 ประเด็นปมครอบครองที่ดินเขากระโดง เอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เคยแทรกแซงการทำหน้าที่ของ รฟท. พร้อมมอบหมายดำเนินการตามหลักธรรมภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ ท้าผู้อภิปรายหากมีหลักฐานให้ยื่นฟ้องเพิกถอน แนะให้ทำทั่วประเทศ อย่าโฟกัสแค่เขากระโดง
เมื่อวันที่ 3 ก.ย. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ชี้แจงการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านว่า ตามที่นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ศ.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ได้มีการอภิปรายถึงที่ดินบริเวณพื้นที่เขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ใน 9 ประเด็นนั้น ประกอบกด้วย 1.กรณีที่ระบุว่า บ้านพักของตน เป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งตน และเครือญาติทราบข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้น ตนขอเรียนชี้แจงว่า ตนเป็นเพียงผู้อยู่อาศัยในที่ดินที่ออกโฉนดเลขที่ 3466 ตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค. 2515 โดยในขณะนั้น ตนอายุเพียง 10 ปี อีกทั้งเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว ออกตามกระบวนการตามกฎหมายของกรมที่ดิน 2.กรณีภายหลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว ตนไม่สั่งการให้ รฟท. เร่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ขอชี้แจงว่า ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในเดือน ก.ค. 2562 ได้มีการดำเนินการดำเนินการพัฒนาที่ดินของ รฟท. โดยตนได้มีคำสั่ง ที่ 380/2563 ลงวันที่ 28 พ.ค. 2563 แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาในการกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารพื้นที่ให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ตามนโยบายของรัฐ และติดตามกำกับนโยบายการจัดการรายได้จากทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างรายได้จากการใช้อสังหาริมทรัพย์ของการรถไฟฯ อย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดนอกจากนี้ ในปี 2564 เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา ตนยังได้มอบนโยบายให้ปลัดกระทรวงคมนาคม อธิบดี ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงคมนาคม นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ภายใต้การบูรณาการให้สอดคล้อง และตอบสนองต่อแนวนโยบายแห่งรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 - 2580 รวมถึงนโยบายของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และสนับสนุนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชน ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามหลักธรรมาภิบาล
3.กรณีเมื่อ รฟท. ทำหนังสือลงวันที่ 23 มิ.ย. 2564 ถึงกรมที่ดิน เป็นเพียงการแสดง เพื่อเตรียมการตอบอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้นั้น โดยพื้นที่กรณีข้อพิพาท ต้องมีการพิสูจน์สิทธิ์ ที่ดินใดก็ตามที่เป็นข้อพิพาท แล้วประชาชนมีเอกสารสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดิน, ที่ดินมี ส.ค.1, นส. 3, นส.3 ก. จะต้องให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินจำนวน 1,000 กว่ารายให้เรียบร้อยเสียก่อน ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 ได้มีการกำหนดว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นจะผูกพันเฉพาะคู่ความในคดี โดยไม่ผูกพันบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่คู่ความตามคดีนั้นๆ ส่วนการยกคำพิพากษา เป็นกรณีของที่ดิน จำนวน 35 รายที่ฟ้องต่อ รฟท. 4.กรณีกรมที่ดินมีคำถามว่า เหตุใด รฟท. จึงไม่ฟ้องขับไล่ตามความเห็นของอัยการสูงสุดนั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า รฟท. ต้องพิจารณากรณีที่ประชาชนมีเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยชอบ โดยหน่วยงานของรัฐ สิ่งที่ รฟท. ต้องดำเนินการ คือ ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริง จากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ผลปรากฏว่า จากคำพิพากษาของศาลฎีกาขั้นต้น รฟท.มีความเชื่อว่า ต้องออกเอกสารสิทธิ์ของกรมที่ดินมีความคลาดเคลื่อน ซึ่งต้องให้กรมที่ดินพิจารณาตามกรอบอำนาจหน้าที่ โดยพิจารณาเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ทับที่ดินของ รฟท.ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 ต่อไป 5.ทำไม รฟท.จึงไม่เรียกเก็บค่าเสียหายในรูปแบบค่าเช่า โดยคำนวณเป็นงบประมาณ วงเงินกว่า 20 ล้านบาท ชี้แจงว่า โดยพื้นที่บริเวณเขากระโดง เป็นพื้นที่ที่มีข้อพิพาทระหว่าง รฟท. กับ ประชาชนมาอย่างยาวนาน ซึ่งการจัดเก็บค่าเช่าของ รฟท. ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์ตามขั้นตอนกฎหมายให้ได้ข้อยุติก่อน ทั้งนี้ในปัจจุบัน รฟท. ได้มีหนังสือถึงกรมที่ดิน เพื่อพิจารณาตามกรอบอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย 6.กรณีต้องการให้ตนแสดงสปิริตให้ รฟท. ไปดำเนินการฟ้องร้องตนในกรณีดังกล่าว ขอเรียนชี้แจงว่า ตนเป็นเพียงผู้อาศัย อยู่บนที่ดินโดยสุจริต เลขที่ 3466 ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิ์ที่ออกทางราชการ โดยชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ ในขณะนั้น ตนยังมีอายุเพียง 10 ปีเท่านั้น
7.กรณีมีที่ดินอีกแปลง ซึ่งมีนายเอ (นามสมมติ) เป็นเจ้าของ โดยตนไม่ได้มีการสั่งการให้ รฟท. เร่งรัด เพียงเพราะมีความสัมพันธ์หรือไม่นั้น เมื่อ รฟท. ได้รับคำพิพากษาจากศาลฎีกา ได้ส่งคำพิพากษาดังกล่าว ไปบังคับตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีความแพ่ง พ.ศ. 2477 มาตรา 275 และได้ดำเนินการสืบหาหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด 8.กรณีที่ดินในการครอบครองดังกล่าว ตามราคาประเมินมีมูลค่าประมาณ 20 ล้านบาท หากคำนวณมูลค่าที่ดินเขากระโดง จำนวน 5 พันไร่ มีมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และหาก รฟท. ดำเนินการล่าช้า จะทำให้ รฟท. และประเทศเสียประโยชน์นั้น กรณีนี้ ตนไม่ได้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดิน ดังนั้น รฟท. จะสำรวจทั่วประเทศ แต่ต้องดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์ให้เรียบร้อยเสียก่อน เพราะจะไปกระทบสิทธิของประชาชนที่ได้เอกสารสิทธิ์โดยชอบตามกฎหมาย 9.กรณีการดำเนินการของ รฟท. ขาดความเท่าเทียมในการบังคับใช้กฎหมาย เมื่อเทียบกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มีการฟ้องร้องรวดเร็ว เป็นเพราะมีบริษัทขนาดใหญ่เป็นผู้รับสัมปทานนั้น ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้ รฟท. ดำเนินการทุกขั้นตอน ตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด รวมถึงปฏิบัติความเท่าเทียม เสมอภาค และโปร่งใส เห็นได้จา กการดำเนินการที่มีความคืบหน้าตามลำดับ มากกว่ายุคสมัยอื่นๆ ซึ่งตนได้มีข้อสั่งการตามหนังสือที่ คค. 0202/กม.689 ลงวันที่ 21 ก.ค. 2564 เน้นย้ำให้ รฟท. ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการของกรมที่ดิน ในการพิจารณาเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ที่เชื่อว่า เป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. โดยให้ตรวจสอบและดำเนินการตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และให้รายงานผลความคืบหน้าเป็นประจำทุกเดือน
สำหรับกรณีผู้บุกรุกที่ดิน รฟท. ในพื้นที่อื่นๆ นั้น ทางกระทรวงคมนาคมได้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม พร้อมทั้งตั้งอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ในทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยมีตนเป็นประธาน เพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในเรื่องที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย อาทิ เครือข่ายสลัม 4 ภาค ผู้บุกรุกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
“ผมในฐานะประชาชน และเป็นบุคคลธรรมดา ผมต้องเรียนว่า ผมเป็นประชาชนที่ถือเอกสารสิทธิ์ที่ดิน และเป็นผู้อาศัยในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยหน่วยงานราชการที่ถูกต้องตามกฎหมายโดยสุจริต ผมเกิดปี 2505 และในญัตติระบุว่า ผมเป็นผู้นำการบุกรุก แล้วใช้กระบวนการทางกฎหมาย ผมว่า ญัตติเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า ส่วนกรณีการครอบครองโฉนดของญาตินั้น ก็เหมือนคนปกติทั่วไป และเป็นเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยหน่วยงานราชการที่ถูกต้องตามกฎหมายโดยสุจริต นอกจากนี้ หากผู้อภิปรายมีข้อมูลหรือหลักฐานที่ชี้ชัดได้ว่า การที่เครือญาติหรือผม ครอบครองเอกสารโฉนดตามที่กล่าวอ้าง และดำเนินการฉ้อฉล จะเสนอให้ผู้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไปยื่นฟ้องหรือไปดำเนินการ เพื่อเพิกถอนโฉนดที่ออกทางราชการในกรณีเดียวกันทั่วทั้งประเทศ อย่าทำแต่ที่เขากระโดง” นายศักดิ์สยาม กล่าว
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ในฐานะ รมว.คมนาคม ขอยืนยันว่า ตนไม่เคยแทรกแซงการดำเนินการใดๆ ของ รฟท. ด้านการมอบนโยบายการดำเนินการด้านที่ดินของ รฟท.นั้น ได้มอบนโยบายโดยให้ยึดระเบียบ กฎหมาย และหลักธรรมาภิบาลมาโดยตลอด และตนใช้เป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมาโดยตลอดอีกด้วย