จัดทำแนวทางการตรวจสุขภาพทำใบขับขี่เสร็จ มี.ค.

2017-12-06 16:45:38

จัดทำแนวทางการตรวจสุขภาพทำใบขับขี่เสร็จ มี.ค.

Advertisement

รพ.นพรัตนราชธานี จัดทำแนวทางการตรวจสุขภาพเพื่อทำใบขับขี่ หรือ fit for drive คาดเสร็จเดือน มี.ค. ชี้ผู้ขับขี่รถควรมีสุขภาพดีจะช่วยลดอุบัติเหตุ ก่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้โดยสาร

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากตรวจสุขภาพผู้ขับขี่แท็กซี่ระหว่างปี 2555-2556 จำนวน 5,346 ราย พบว่า ร้อยละ 33.1 ของผู้ขับขี่รถแท็กซี่มีโรคประจำตัว โดยในกลุ่มนี้พบเป็นโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 37 ปัญหาทางสายตา ร้อยละ 28.1 โรคเบาหวาน ร้อยละ 26.1 โรคพาร์กินสันและระบบประสาทอื่นๆ ร้อยละ 0.5 โรคจิตเภท ร้อยละ 0.3 โรคลมชัก ร้อยละ 0.2 นอกจากนี้ยังพบอาการทางกระดูกและกล้ามเนื้อ ร้อยละ 32.6 ภาวะเครียด ร้อยละ 20.3 อาการทางระบบประสาท ร้อยละ 13.6 การตรวจสุขภาพพบว่ามีดัชนีมวลกายอยู่ในระดับเกินมาตรฐาน ร้อยละ 56.6. ไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 70.4 ความดันโลหิตสูง ร้อยละ 38.2 น้ำตาลในเลือดสูง ร้อยละ 11.6 โรคเมตาบอลิซึ่ม ร้อยละ 5.2 วัณโรครายใหม่ ร้อยละ 2.5 และ ตาบอดสี ร้อยละ 1.9 การเกิดอุบัติเหตุขณะขับขี่รถแท็กซี่ ร้อยละ 24.1 และเกือบเกิดอุบัติเหตุ ร้อยละ 34.8

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อว่า เมื่อใช้วิธีทางสถิติพบว่าโรคความดันโลหิตสูง ประวัติโรคประจำตัว และปัญหาทางสายตามีความสัมพันธ์กับการเกิดอุบัติเหตุชัดเจน การที่มีโรคเหล่านี้จะทำให้การตัดสินใจช้าลง เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน ในอดีตที่ผ่านมาการตรวจสุขภาพเพื่อทำใบขับขี่ มีเพียงการตรวจสายตา ตรวจปฏิกิริยา และตรวจตามใบรับรองแพทย์ 5 โรคเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับเป็นหลักประกันด้านสุขภาพของผู้ขับขี่ ดังนั้นเพื่อให้เกิดวามครอบคลุมต่อโรคหรือสุขภาวะที่มีผลกระทบต่อสมรรถนะการขับขี่ กรมการแพทย์โดย รพ.นพรัตนราชธานี จึงได้มีการริเริ่มจัดทำแนวทางการตรวจสุขภาพเพื่อทำใบขับขี่ หรือ fit for drive อันเป็นการร่วมทำงานระหว่างกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงคมนาคม




ด้าน นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผอ.รพ.นพรัตนราชธานี กล่าวว่า สืบเนื่องจากข่าวอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เกิดจากผู้ขับขี่รถที่เป็นโรคลมชักนั้น กระทรวงสาธารณสุขโดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขและอธิบดีกรมการแพทย์ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้มีคำสั่งจัดตั้งคณะกรรมการระดับกระทรวงเพื่อจัดทำแนวทางการทำใบขับขี่ให้เป็นสากลมีมาตรฐานที่เพียงพอ อ้างอิงจากการตรวจสุขภาพเพื่อทำใบขับขี่ของประเทศต่างๆที่พัฒนาแล้ว โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงและกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการ และพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้เป็นกฎหมายบังคับต่อไป นอกจากนี้กรมการแพทย์โดย รพ.นพรัตนราชธานีจะได้ร่วมกับสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยทำการฝึกอบรมแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพตามแนวทางนี้เพื่อออกใบรับรองแพทย์สำหรับการทำใบขับขี่ด้วย

นพ.สมบูรณ์ กล่าวต่อว่า ในแนวทางการตรวจสุขภาพนี้จะครอบคลุมโรคที่เป็นอันตรายสำหรับผู้ขับขี่ ได้แก่โรคระบบประสาท เช่น โรคลมชัก โรคเส้นเลือดสมองแตก อาการภายหลังมีอุบัติเหตุรุนแรงที่ศีรษะ โรคพาร์กินสัน เป็นต้น โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ใช้ยาอินซูลินชนิดฉีดซึ่งเสี่ยงต่อการมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำและอาจทำให้หมดสติ โรคจิตประสาท โรคของสายตา นอกจากนี้ยังมีโรคเฉพาะอีกหลายๆอย่าง ทั้งนี้มิได้หมายความว่า คนที่เป็นโรคจะไม่สามารถขับขี่รถได้ แต่อาจจะต้องยกเลิกการขับขี่ชั่วคราวจนกว่าแพทย์จะรักษาจนมีผลการรักษาเป็นที่ปลอดภัย แล้วจึงไปรับการตรวจประเมินใหม่ คาดว่าแนวทางการตรวจสุขภาพน่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน มี.ค.นี้ และจะประกาศใช้บังคับต่อไป