สธ.ชง ศบค.เคาะเปิดกิจการเสี่ยงน้อยและสำคัญ “ห้างสรรพสินค้า -ร้านอาหาร - กีฬากลางแจ้ง -การเดินทาง” ใช้มาตราการ Covid free program ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ติดเชื้อหลัง 1-3 เดือน ตรวจ ATK ก่อนเข้าพื้นที่ ขู่หากรับรองเท็จฟันผิดตาม ก.ม.
เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวเรื่องการผ่อนคลายมาตรการ ว่า สถานการณ์โควิดทั่วโลกระบาดรุนแรงวันวันนี้ 6 เสนกว่าราย สะสม 214,673,158 ราย เสียชีวิตนับหมื่นราย ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยวันนี้ติดเชื้อ 18,501 ราย ถือว่าคงตัว เฉลี่ย 7 วัน 1.8 หมื่นราย หายป่วยหลัก 2 หมื่นรายต่อวัน มากกว่าอัตราการติดเชื้อรายใหม่ ทำให้มีเตียงรองรับเพิ่ม แต่ผู้ติดเชื้ออาการหนัก และใส่ท่อช่วยหายใจยังเยอะ ส่วนผู้เสียชีวิตวันนี้ 247 ราย
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ปัจจุบันเราล็อกดาวน์มา 4 สัปดาห์กว่าๆ และจากการวางฉากทัศน์เอาไว้ว่าหากไม่ล็อกดาวน์จะติดเชื้อกว่า 6 หมื่นรายต่อวัน แต่ตอนนี้ไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ทั้งนี้หากเราล็อกดาวน์ แล้วประชาชนร่วมมือในการดำเนินการ ปัจจุบันอัตราการติดเชื้อเป็นไปตามที่หวัง เข้าใจว่าผลการล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพ 20-25% ต้องรอดูอีกระยะ ส่วนอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าการคาดการณ์ ยังสูงในผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัว การลดจำนวนตรงนี้คือเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มนี้ ปัจจุบันมีเพียงกทม.ที่ฉีดผู้สูงอายุได้ตามเป้า ครอบคลุมกว่า 90% แล้ว ภาพรวมการติดเชื้อทั้งประเทศตั้งแต่เม.ย.-มิ.ย. มีการเร่งการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นมาตลอด ปัจจุบันเลยจุดสูงสุดไปแล้วกำลังอยู่ในช่วงการระบาดต่อเนื่อง แต่แนวโน้มลดลง ยังต้องขอความร่วมมือประชาชน และกิจการต่างๆ ในการคงมาตรการควบคุมป้องกันโรคร่วมกับรัฐบาล เพื่อไม่ให้การติดเชื้อรุนแรงขึ้น พยายามไม่ให้เกิดระบาดรุนแรงอีกเพราะครั้งนี้เป็นบทเรียนที่สำคัญ ทำให้เราเกิดผลกระทบในวงกว้าง ขอให้ประชาชนคงมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล ป้องกันส่วนบุคคลสูงสุดตลอดเวลา ทั้งประชาชนทั่วไปและบุคลากรการแพทย์ ขอให้คิดเสมอว่าตัวเราหรือคนใกล้ชิดมีการติดเชื้ออยู่ ต้องป้องกันตัวเองเต็มที่ ทุกคนต้องมีจิตสำนึก เพราะฉะนั้นมาตรการเสริมคือออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเลี่ยงออกจากบ้าน เว้นระยะห่าง ล้างมือ ทำความสะอาดซฆ่าเชื้อ กินอาหารร้อน ปรุงสุกใหม่ หากสงสัยสามารถรับการตรวจเชื้อด้วย ATK ซึ่งตอนนี้มีการจำหน่ายในประเทสไทยมากขึ้น หากเสี่ยงมากทำทุก 3 วัน เสี่ยงน้อย ทำทุก 7 วัน เป็นการคัดกรองที่ดีเพื่อแยกคนติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษา ไม่แพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
“ดังนั้นในการประชุม ศบค.สธ.เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา มีการออกมาตรการเพื่อให้อยู่กับโควิด ให้กิจการเสี่ยงน้อย และสำคัญ อาทิ ห้างสรรพสินค้า กิจการร้านอาการ กีฬากลางแจ้ง และการเดินทาง เป็นต้น ซึ่งกระทรวงยกระดับเพื่อให้เดินหน้ากิจการต่อ ไม่อยากล็อกดาวน์อีกแล้ว โดยมีมาตรการควบคุมป้องกันโรคเรียกว่า Covid free program ที่ต้องปฏิบัติทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ โดยจะมีการเสอเข้าที่ประชุมศบค.ในวันที่ 27 ส.ค.นี้” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า มาตรการที่เสนอในส่วนของสถานประกอบการและสถานที่ต่างๆ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1. สถานประกอบกิจการต่างๆ ที่เป็นลักษณะปิด ห้องแอร์ ต้องจัดระยะห่าง มีชีล มีระบบระบายอากาศ ไม่ให้อากาศนิ่ง สะอาด ถูกสุขอนามัย 2. บุคคล ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือผู้ให้บริการ จะต้องปลอดโควิด โดย ฉีดวัควีนครบ 2 เข็ม หรือเคยติดเชื้อแล้วพ้นระยะการแพร่เชื้อแล้ว คือติดเชื้อหลัง 1 เดือน ไม่เกิน 3 เดือน หรือมีการตรวจเชื้อฯ มีทั้ง RT-PCR หรือ ATK ก็ได้ ซึ่งในคนที่เสี่ยงมากทำทุก 3 วัน เสี่ยงน้อยทำทุก 7 วัน ให้บริการแบบเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เช่นเดียวกับกลุ่มลูกค้า ต้องปราศจาคเชื้อ คือรับวัคซีนครบ 2 เข็ม อาจจะมีบัตร หรือดิจิตอลการ์ด ในระบบหมอพร้อม หากไม่มีสามารถขอหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนได้ นอกจากนี้ อาจจะมีบัตรเหลือง หรือบัตรขาวชั่วคราวสำหรับคนติดเชื้อมาแล้ว 1 เดือน ไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งถือว่ามีภูมิ หากพ้นระยะ 3 เดือน ก็ให้ไปฉีดวัคซีน หากไม่มี 2 ส่วนนี้ ก็ต้องมีการตรวจ ATK ที่บ้านแล้วมีผู้รับรอง หรืออาจจะตรวจที่สถานประกอบกิจการได้ ซึ่งบางแห่งอาจจะมีวางจำหน่าย หรือสนับสนุนหากผลเป็นลบ ผู้ประกอบการจะรับรองให้ ทั้งนี้ อายุการรับรอง 1 สัปดาห์ หากรับรองเท็จจะมีบทลงโทษ
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า หลังจากเปิดกิจการต่างๆ จะมีกิจการต้นแบบ เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในอนาคต ซึ่งมีสถานประกอบกิจการเสนอตัวมาแล้ว การดำเนินการดังกล่าวเบื้องต้นเน้นในพื้นที่สีแดง เบื้องต้นร้านอาหารเปิดให้นั่งรับประทาน 50% ถึงเวลา 20.00 น. ใครที่ยังไม่เข้าเกณฑ์นั่งรับประทานในร้าน ขอให้เป็นการซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านก่อน ทั้งนี้ ตอนนี้ยังไม่ได้เสนอให้ปรับสี เพื่อประชาชนให้ทราบว่าการติดเชื้อยังสูง แม้จะมีแนวโน้มที่ลดลงก็ตาม ทั้งนี้เราจะอนุญาตให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็น และจะมีการเสนอศบค.ในวันที่ 27 ส.ค.นี้ หากอนุญาตแล้ว จะเริ่มเมื่อไหร่ก็ให้เป็นไปตาม ศบค.กำหนด ข้อย้ำว่านี่เป็นคำแนะนำในระยะแรก ยังไม่ได้บังคับ
เมื่อถามว่าหากไม่มีใบรับรองต่างๆ รวมถึงผลตรวจ ATK จะเกิดความวุ่นวายหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า หากใครไม่มีการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ไม่มีการ์ดเหลือง หรือขาวที่รับรองการติดเชื้อหลัง 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน หรือไม่มีผลตรวจ ATK นั้นก็สั่งกลับไปรับประทานที่บ้านไป ต้องเตรียมมา ต้องมีความพร้อม ในยุคถัดไปต้องเป็นแบบนี้ และแน่นอนว่าถ้าจะให้มีมาตรการเหล่านี้สถานประกอบการก็ต้องมี ATK ให้ด้วย เหมือนที่สนามบินที่จะมีการทำ Covid Free Travel การท่าจะมีการทำและจัดหา ATK แต่อาจจะมีค่าใช้จ่ายให้ด้วย แต่ไม่มาก ตั้งใจว่าไม่ให้เกิน 100 บาท หรือประมาณ 70-80 บาท ถ้าไม่ได้ตรวจมาจากที่บ้าน ก็ไปทำที่สถานประกอบกิจการได้ ซึ่งจะมีการออกใบรับรองให้ สามารถรับรองได้ 7 วัน ไม่ว่าจะเข้าร้านอาหาร หรือสถานประกอบการเพื่อให้มีความมั่นใจ ทั้งนี้อนาคตเมื่อเรามี ATK เข้ามาในประเทศมากพอประชาชนเข้าถึงได้ระบบนี้จะได้จัดการได้อย่างเต็มที่
เมื่อถามย้ำถึงค่าใช้จ่ายชุดตรวจ ATK ผู้ใช้บริการ หรือผู้ให้บริการจเป็นผู้รับผิดชอบ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ต้องดูก่อนว่าเราจะทำได้ประมาณไหน อย่างในส่วนของภาคราชการนั้น ให้มีการตรวจด้วย ATK และเบิกได้ และออกบัตรเหลืองรับรองกันเองได้ ส่วนประชาชนทำได้ 2 วิธี โดยทางแรกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. หากมีการจัดซื้อแล้วเสร็จจำนวน 8.5 ล้านชุดก็จะแจกจ่ายประชาชนได้ อีกส่วนคือ ประชาชนสามารถเข้าถึงหาซื้อได้ ขณะที่สถานประกอบการจะมีการนำเข้ามาเช่นกันซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทใหญ่อาจจะมีการซื้อหา ATK ที่ผ่านอย. เข้ามาใช้ เพื่อเป็นความร่วมมือในการป้องกันโรคต่อไป ดังนั้นค่าใช้จ่ายถือเป็นภาระของทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจน แต่เป็นแนวทางที่จะแนะนำให้ปฏิบัติต่อไป