มติรัฐสภาค้านญัตติ ส.ส.ก้าวไกล

2021-08-24 21:19:12

มติรัฐสภาค้านญัตติ ส.ส.ก้าวไกล

Advertisement

มติรัฐสภาค้านญัตติ ส.ส.ก้าวไกล 374 ต่อ 60 เสียง 

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่ประชุมรัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาเรื่องด่วน คือ ญัตติการขอให้รัฐสภาวินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมปี2563 ตามที่นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เพื่อขอให้รัฐสภาลงมติชี้ขาดกรณีที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.)พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ( แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง) รัฐสภา ได้ไปดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาเกินกว่าที่รับหลักการไว้ในวาระที่จะทำได้หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทั่งเวลา 17.10น. หลังจากสมาชิกรัฐสภาอภิปรายครบถ้วนทุกคนแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการลงมติในญัตติของนายธีรัจชัย ปรากฏว่า นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สอบถามว่า การลงมติในญัตติของนายธีรัจชัย จะยึดข้อมูลตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมในฉบับเดิมที่ยังไม่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขใหม่ในช่วงเช้าวันที่ 24 ส.ค.ใช่หรือไม่ และเพื่อความมั่นใจขอดูร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กมธ.ไปปรับปรุงแก้ไขมาเสร็จแล้วด้วย แต่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกมธ. ปฏิเสธที่จะให้ดู อ้างว่า ยังไม่ถึงวาระการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถให้ดูเนื้อหาที่แก้ไขใหม่ได้

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามสอบถามที่ประชุมรัฐสภาว่า จะลงมติโหวตกันอย่าง เพราะญัตติของนายธีรัจชัยเขียนแบบกว้างๆ จะตั้งคำถามการลงมติกันอย่างไร เพราะไม่รู้ว่า ญัตติต้องการถามว่า กมธ.เสียงข้างมากปฏิบัติหน้าที่แก้รัฐธรรมนูญเกินเลยจากหลักการ หรือต้องการกล่าวหากมธ.ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับประชุมรัฐสภาข้อ124 ขัดรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือหลักนิติธรรมหรือไม่ ถ้าเป็นกรณีนี้รัฐสภาไม่มีอำนาจวินิจฉัยประเด็นการตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สภาฯจะมีอำนาจวินิจฉัยเฉพาะเรื่องที่ไม่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญเท่านั้น ถ้าญัตติไม่สมบูรณ์เช่นนี้ สภาฯก็ไม่จำเป็นโหวตญัตติดังกล่าว ทำให้นายธีรัจชัยลุกขึ้นตอบโต้ด้วยความไม่พอใจทันทีว่า มีผู้พยายามบิดเบือน เบี่ยงเบนประเด็นให้ญัตติตกไป โดยไม่ต้องลงมติโหวต ซึ่งนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เสนอว่า เมื่อหลายคนอยากเห็นเนื้อหาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่กมธ.ไปปรับปรุงแก้ไขมา ก็จะแจกร่างฉบับแก้ไขให้สมาชิกไปอ่าน เพื่อทำความเข้าใจแล้วค่อยมาตัดสินใจโหวตลงมติญัตตินายธีรัจชัยอีกครั้งในวันที่ 25ส.ค.

ภายหลังจากใช้เวลาถกเถียงกันยาวนานว่าจะลงมติกันอย่างไรร่วม 1 ชม. ท้ายที่สุดนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ยืนยันให้เดินหน้าลงมติญัตติของนายธีรัจชัย โดยตั้งคำถามว่า เห็นด้วยกับญัตติของนายธีรัจชัยในการกล่าวหากมธ.หรือไม่ ผลปรากฏว่า ที่ประชุมลงมติไม่เห็นด้วยกับญัตตินายธีรัจชัย ด้วยคะแนน 374 ต่อ60 งดออกเสียง 193 ไม่ลงคะแนน 4

ต่อมาเวลา 18.15 น. เข้าสู่วาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม มาตรา83และมาตรา91 เรื่องระบบเลือกตั้ง โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกมธ. กล่าวชี้แจงหลักการและเหตุผลของการเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่กมธ.ได้ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาใหม่ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 24ส.ค. และขอให้นำข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ37มาบังคับใช้โดยอนุโลม กับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่ กมธ.ได้เสนอไว้ ซึ่งนายชวนเปิดโอกาสให้สมาชิกหารือว่า มีใครยังติดใจประเด็นใดหรือไม่ แต่ไม่มีใครติดใจ นายชวนจึงสั่งเลื่อนการประชุมเป็นวันที่ 25 ส.ค. และปิดประชุมเวลา 18.25น.