"หมอธีระวัฒน์"ตั้งข้อสังเกตฉีด "ชิโนแวค"เข็มแรก ตามด้วยเข็ม 2 "แอสตร้าเซนเนก้า" ภูมิดูสูงกว่าชิโนแวค 2 เข็ม หรือ แอสตร้า 2 เข็ม แต่ภูมิที่เห็นนั้นเป็น “ภูมิรวม”ไม่ใช่ภูมิที่ยับยั้งไวรัส หวั่นฉีดไขว้ไม่คุ้มกันเดลตา เสียแอสตร้าไปเปล่าๆหรือไม่
เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเพจ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุว่า ข้อมูลที่ทางการออกมาเปิดเผยว่าการใช้เข็มที่หนึ่งคือชิโนแวค และเข็มที่สองเป็นแอสตร้านั้นจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ภูมิที่วัดจะดูสูงกว่าชิโนแวค 2 หรือ แอสตร้า 2 แต่ภูมิที่เห็นนั้นเป็น “ภูมิรวม”ไม่ใช่ภูมิที่ยับยั้งไวรัส (ในรูปแรก)
และเมื่อดูภูมิเฉพาะเจาะจงที่ยับยั้งไวรัสเดลตานั้น ที่ดีที่สุดคือ ชิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยเข็ม 3 แอสตร้า ดังนั้น ข้อมูลนี้ยืนยันว่าประสิทธิภาพของการไขว้ เข็ม 1 ชิโนแวค และเข็ม 2 แอสตร้านั้นไม่ได้ทำให้มีกำไรขึ้น และไม่ข้ามไปคุ้มกันเดลตา ดีกว่าจะเสียแอสตร้าไปเปล่าๆหรือไม่ โดยมีข้อสังเกตอีกประการ คือ AZ AZ ตามรูปทำไมระดับต่อ เดลตา ไม่สูงเหมือนรายงานในต่างประเทศทั้งหมด เป็นเพราะคนสูงอายุมากหรือไม่
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุอีกว่า เรื่องของภูมิ
ㆍชิโนแวค ภูมิขึ้นช้า ลงเร็ว
ㆍแอสตร้า ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ภูมิขึ้นเร็ว ลงช้ากว่า
*ประสิทธิภาพขึ้นกับระดับภูมิที่ต้องยับยั้งไวรัสได้ และต้องระบุได้ว่าภูมินั้น ๆ เป็นต่อตัวไหน เช่น เดลตา เบตา เป็นต้น
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุด้วยว่า บทพิสูจน์ชัดเจนว่าถ้าชิโนแวค ที่สองเข็มไปแล้วเริ่มลดประสิทธิภาพลงในการป้องกันการติดเชื้อบุคลากรทางการแพทย์ก็จะแพร่เชื้อต่อไปให้ผู้ป่วย
ที่ หอผู้ป่วยแห่งหนึ่ง แผนกผ่าตัดของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งมีการติดในหอผู้ป่วยไปยังผู้ป่วยหลายรายที่นอนอยู่นานแล้ว และยิ่งไปกว่านั้นผู้ป่วยที่กลับบ้านไปแล้วมีอาการของโควิดแล้วกลับมาใหม่ การคำนึงถึงสูตรวัคซีนไม่ใช่คิดถึงแต่ลดการตายอย่างเดียวแต่ต้องคิดถึงผลกระทบในวงกว้างต่อเพื่อนร่วมงานในระบบบริการสาธารณสุขและที่แพร่ไปยังผู้ป่วย
การใช้สูตรชิโนแวค เชื้อตายซึ่งออกแบบให้การฉีดในระยะแรกเป็นสองเข็มแล้วจะทำให้เกิดผลในการป้องกันการติดและลดอาการหนักหรือเสียชีวิต แต่เมื่อมีการปรับเปลี่ยนเป็นชิโนแว็ค หนึ่งเข็มตามด้วยวัคซีนอื่น เป็นเรื่องที่ยังไม่ชัดเจนนัก เมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนอื่นเช่น แอสตร้า หรือไฟเซอร์ โมเดอร์นา ที่มีข้อมูลแม้หลังจากหนึ่งเข็มก็ตามจะสามารถมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อและอาการหนักได้ระดับหนึ่ง ดังนั้นการใช้ชิโนแวคเข็มแรกตามด้วยแอสตร้าเข็มที่สองจึงมีข้อกังวลว่าทำไมไม่ใช้ แอสตร้า สองเข็มไปเลย หรือ แอสตร้าหนึ่งเข็ม ตามด้วยไฟเซอร์หรือโมเดนา ที่มีการใช้แล้วและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
และข้อมูลในวันที่ 12 ก.ค. 2564 ก็แสดงว่าแอสตร้าสองเข็ม หรือไฟเซอร์โมเดอร์นาสองเข็ม แม้ว่าประสิทธิภาพต่อเดลตาจะลดลงบ้างแต่ยังพอไหว แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองวัคซีนดังกล่าวเมื่อพ้นหกเดือนภูมิก็ลดลงและเริ่มมีการติดใหม่ ถ้ามีปัญหาเกี่ยวข้องกับจำนวนของวัคซีนแต่ละยี่ห้อที่จะหามาได้ และไม่สามารถทำได้ อาจจะต้องอธิบายตามข้อจำกัดดังกล่าวมากกว่า ซึ่งประชาชนจะได้เข้าใจถึงความจำเป็นดังกล่าว การดูผลกระทบของวัคซีนที่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ ในบุคลากรที่ต้องดูแลผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่อ้างแต่เพียงว่าติดเชื้อไปไม่ถึง 1000 ในที่ฉีดไปเป็นจำนวนมาก ต้องถามว่าที่ติดไปโดยไม่มีอาการและไม่รู้ว่าตัวเองติดและแพร่ไปให้คนอื่นมีมากมายเพียงใดและอาการหลังจากติดแล้วแม้ได้รับวัคซีนนั้นจะเพิ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆตามระดับภูมิคุ้มกันที่ลดลงอย่างรวดเร็วและตามสายพันธุ์ใหม่ที่เข้ามามีมากเพียงใด แต่คงไม่ใช่ไขว้ไปมาจากอะไรกันแน่ และจะเป็นเรื่อง วัคซีน ขบขัน หรรษาในที่สุด
ขอบคุณเพจ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha