สธ. เผยผู้ติดเชื้อโควิดกลับไปรักษาภูมิลำเนาเกือบ 1 แสนรายในรอบ 1 เดือน ภาคอีสานสูงสุด
เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวการบริหารจัดการนำผู้ติดเชื้อกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา ว่า หลังจากประกาศมาตรการล็อกดาวน์ทำให้มีประชาชนเดินทางออกจาก กทม.และปริมณฑลกลับสู่ภูมิลำเนาจำนวนมาก และมีผู้ติดเชื้อเดินทางกลับไปด้วย จากข้อมูลของทั้ง 12 เขตสุขภาพตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. - 4 ส.ค.2564 มีผู้ติดเชื้อโควิด- 19 กลับต่างจังหวัดและเข้าระบบ การดูแลรักษาแล้ว 94,664 คน มากกว่าครึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน รองลงมาคือภาคเหนือ ภาคกลางและตะวันออก และภาคใต้ ตามลำดับ โดยช่วงแรกส่วนใหญ่ผู้ป่วยเดินทางกลับด้วยตนเอง มีทั้งติดต่อโรงพยาบาลปลายทางและไม่ติดต่อ ซึ่งเป็นความเสี่ยงแพร่เชื้อระหว่างเดินทางและในพื้นที่ทั้งนี้ หลายจังหวัดมีการจัดทำโครงการรับผู้ติดเชื้อกลับบ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดยานพาหนะรับส่ง และล่าสุดภาครัฐ มีนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย จัดบริการรับผู้ติดเชื้อกลับบ้านอย่างปลอดภัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ชุมชน ประชาชนที่จะกลับต่างจังหวัดสามารถติดต่อประสานงานล่วงหน้ากับ สปสช. เพื่อประเมินอาการก่อนเดินทาง ขณะเดินทางต้องใส่หน้ากากตลอด เตรียมยาโรคประจำตัวให้พร้อม เกิดภาวะฉุกเฉินโทร 1669 หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำ ให้ล้างมือก่อนและหลังใช้
เมื่อเดินทางถึงจุดนัดที่ภูมิลำเนาจะมีเจ้าหน้าที่ประเมินอาการผู้ป่วยอีกครั้งเพื่อแยกอาการ โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย รักษาได้ทั้งในโรงพยาบาลสนาม ที่บ้านและชุมชนส่วนกลุ่มสีเหลือง อาการปานกลาง พิจารณารักษาในโรงพยาบาลชุมชน บางจังหวัดที่มีการติดเชื้อมากได้จัดเป็นโรงพยาบาลโควิดโดยเฉพาะ และกลุ่มสีแดง มีอาการรุนแรง มีอาการเหนื่อย ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง รักษาในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมามีการเพิ่มเตียงไอซียูรองรับแล้ว และมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยภายในเขตสุขภาพ จากการดำเนินงานทั้งหมดจะช่วยให้มีเตียงรับผู้ป่วยรักษาได้อย่างเหมาะสมตามอาการ
นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ในต่างจังหวัดมีภาระงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการจัดทีมเข้ามาช่วยเหลือพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ดูแลผู้ติดเชื้อในพื้นที่ และดูแลผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับมารักษา กระทรวงสาธารณสุขจึงปรับบทบาทการทำงานของบุคลากร เช่น ทันตแพทย์ช่วยเก็บตัวอย่างตรวจเชื้อ ลดภาระแพทย์ พยาบาล หรือให้เภสัชกรและนักวิชาการสาธารณสุขมาช่วยทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องออกซิเจนไฮโฟลว์ เป็นต้น รวมทั้งกรมสุขภาพจิตได้มีการวางระบบให้คำแนะนำแก่ผู้บริหารในการดูแลขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ที่เหนื่อยล้าจากทำงานสู้โควิดมายาวนานใกล้จะ 2 ปี
สำหรับการป้องกันเกิดคลัสเตอร์ใหม่ในพื้นที่ เช่น ในโรงงานทุกประเภทที่ให้ใช้มาตรการ Bubble and Seal เพื่อควบคุมโรคและป้องกันการแพร่เชื้อในโรงงานที่ยังไม่มีการติดเชื้อ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะให้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน รวมถึงตลาด สถานศึกษา โรงเรียนประจำ กลุ่มขนส่งทั้งภายในจังหวัดและข้ามจังหวัด และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ให้มีการประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID Plus ของกรมอนามัย นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป จะเร่งรัดการฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป โรคประจำตัวเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปเพื่อลดอัตราการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต