Resilient Leadership ถอดบทเรียนผู้นำที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงกับการจัดการโควิด-19

2021-08-04 17:20:28

Resilient Leadership ถอดบทเรียนผู้นำที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงกับการจัดการโควิด-19

Advertisement

Resilient Leadership ถอดบทเรียนผู้นำที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงกับการจัดการโควิด-19 : ภาวะผู้นำที่โลกสมัยใหม่ต้องการ



ตั้งแต่ปี 2015 ที่สังคมโลกรู้จักและเดินตามเป้าหมายแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ คำว่า “Resilient” ก็กลายมาเป็นคำที่หลายคนรู้จักและพูดถึง เริ่มจากแวดวงนักวิชาการ จนตอนนี้เป็นคำที่แพร่หลายมากขึ้น




ยิ่งในภาวะที่ทั่วโลกต้องเผชิญวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 “ความเหลื่อมล้ำ” ที่มีอยู่เดิมก็กลับปรากฏชัดขึ้น สังคมจึงต้องการผู้นำที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน เพื่อนำพาองค์กรหรือสังคมรอดพ้นจากปัญหาด้วยความรวดเร็ว โดยที่ไม่ละเลยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปพร้อม ๆ กัน (Leaving no one behind)

เวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 9 (The 9th TIJ Public Forum on the Rule of Law and Sustainable Development) ที่จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ เมื่อวันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน 2564 โดยใช้ชื่อหลักว่า “The International Virtual Forum: Resilient Leadership in Practice” จึงจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้กำหนดนโยบายที่มีชื่อเสียงทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับชาติ ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวคิด นโยบาย กรณีศึกษาต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงเรื่องหลักนิติธรรม การพัฒนาอย่างเสมอภาค และความเป็นผู้นำที่พร้อมปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้รับฟังสามารถนำแนวคิด นโยบาย หรือกรณีศึกษาเหล่านั้นไปปรับประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริงได้





“กิตติพงษ์ กิตยารักษ์”: หลักนิติธรรม การพัฒนาที่เท่าเทียม และความเป็นผู้นำที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงสำคัญในยุควิกฤตโควิด-19

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวในงานเสวนา หัวข้อ “The Inextricable Linkages between the Rule of Law, Equitable Development and Resilient Leadership” ว่า ในช่วงวิกฤตของสังคมโลกในเวลานี้ หลักนิติธรรมเป็นสิ่งจำเป็นและขาดไม่ได้ ยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบกับทุกประเทศ



ทั้งประเทศยากจน ร่ำรวย โดยที่ไม่มีใครคาดการณ์ล่วงหน้าได้ อีกทั้งสถานการณ์นี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึง “ความเหลื่อมล้ำ” ในสังคมชัดขึ้น ทำให้กลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้หญิง และกลุ่มคนชายขอบ ต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักในแง่ของการถูกทำร้ายร่างกายเพิ่มขึ้นในระหว่างการล็อกดาวน์ และการเข้าไม่ถึงบริการต่าง ๆ ในสังคม

“โรคระบาดทำให้เราได้เห็นถึงความไม่ยืดหยุ่นของกลไกด้านกฎหมาย จึงเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้หน่วยงานและองค์กรรัฐต้องเข้าใจบทบาทของการเป็นผู้นำ ที่ต้องเข้าใจในการเรียงลำดับความสำคัญต่อคนในสังคม เปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วม และรวมทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน วิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้ผู้นำในโลกสมัยใหม่มีโอกาสในการทบทวนว่า “ผู้นำที่ดี” ต้องมีคุณสมบัติที่พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง อดทนและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งความเป็นผู้นำที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ ผู้นำก็จะต้องคำนึงถึง “หลักนิติธรรม” ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อฟื้นให้สังคมกลับมาเป็นปกติได้ เพราะหากไม่มีหลักนิติธรรม ผู้คนจำนวนมากจะถูกทอดทิ้ง สิทธิขั้นพื้นฐานจะถูกละเลย และถ้าหากใช้หลักนิติธรรมในทางที่ผิด ก็จะทำให้ความไว้วางใจต่อสถาบันต่าง ๆ ทางสังคมลดลง”



ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง : คำว่า resilient จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะองค์กรที่สามารถปรับตัวจนกลับคืนจากสภาวะวิกฤตได้อย่างรวดเร็ว



นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำที่มีความสามารถในการบริหารในสถานการณ์วิกฤต จากเหตุการณ์ช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่า อคาเดมี ออกจากถ้าหลวงขุนน้ำนางนอน ในสมัยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย จึงมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การบริหารสถานการณ์ของจังหวัดลำปางในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้ง 3 ระลอก ในหัวข้อ “Resilient Leadership in Practice: Experience at Local Administrative

ผู้ว่าฯ ลำปาง กล่าวว่า ภายใน 1-2 ปีนี้ คำว่า Resilient จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะ “resilient organization” ที่หมายความว่าองค์กรที่สามารถปรับตัวจนกลับคืนจากสภาวะวิกฤตได้อย่างรวดเร็วในเวลาที่เหมาะสม หรือถ้ามองในระดับประเทศ ก็หมายถึงประเทศที่แก้ปัญหาวิกฤตขั้นรุนแรงได้ และฟื้นตัวได้เร็วหลังภาวะวิกฤต”

โดยในการเสวนา ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ยังได้เล่าถึงประสบการณ์การบริหารสถานการณ์ช่วยเหลือทีมหมูป่า อคาเดมี 13 ชีวิต ออกจากถ้ำ อธิบายวิธีการวางแผน การปรับแผนของทีมนักประดาน้ำ โดยเพิ่มเวลา 3 วันสำหรับการฝึกซ้อมนำตัวผู้ประสบภัยออกจากถ้ำ เพื่อให้มีอัตราความเสี่ยงลดลง มีอัตราความสำเร็จมากขึ้น ซึ่งมาจากการที่ต้องคาดการณ์ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย โดยได้เตรียมการไว้ถึง 4 แผน ตามหลักการกระจายความเสี่ยง

ส่วนการบริหารสถานการณ์ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ เล่าว่า การปฏิบัติงานของจังหวัดลำปาง เริ่มตั้งแต่ที่เห็นเมืองอู่ฮั่นมีสภาพเป็นเมืองร้าง จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญทางสาธารณสุขมาร่วมวางแผนตั้งแต่การอบรมบุคลากรทุกภาคส่วน แบ่งทีมฝ่ายปกครองและฝ่ายการแพทย์ออกเป็นหลายทีมสลับสับเปลี่ยนการปฏิบัติงานภาคสนาม หลีกเลี่ยงการมาพบปะเจอกันระหว่างคนในทีม เพื่อป้องกันสถานการณ์ที่แย่ที่สุดนั่นคือการติดเชื้อระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้ยังมีทีมที่ปฏิบัติงานต่อได้ หากมีทีมใดต้องถูกกักตัว



นอกจากนี้ยังเตรียมโรงพยาบาลในจังหวัดลำปางให้พร้อม โดย ปรับ 2 โรงพยาบาลในจังหวัดเป็นโรงพยาบาลสำหรับรับมือโรคโควิด-19 โดยเฉพาะ พร้อมนำหมอและพยาบาลมาฝึกรับมือในการดูแลผู้ป่วย เพื่อรักษาได้ทันท่วงที เตรียมเครื่องช่วยหายใจมากกว่า 100 เครื่อง เตรียมโรงพยาบาลสนามไว้กว่า 300 เตียง เตรียมห้องความดันลบ 20 ห้อง เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงจัดทำแผนติดตามคนเข้าออกทั้งหมดและตรึงพื้นที่ทั้งหมดในจังหวัด เพื่อตรวจสอบและควบคุมประชาชนที่เข้า-ออกจังหวัด โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชน ทำงานร่วมกัน เพื่อติดตามคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง โดยสามารถติดตามได้มากถึง 96 เปอร์เซ็นต์ จนทำให้จังหวัดลำปางควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว

นายณรงศักดิ์ยังชี้ให้เห็นว่า จังหวัดลำปางใช้ข้อมูลทางสถิติมาออกแบบวิธีการช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติมในการระบาดรอบแรก โดยเล่าว่า ลำปางมีประชากรกว่า 7 แสนคน มีผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการต่าง ๆ 4.2 หมื่นคน และในจำนวนนี้มี 6 พันคนที่อยู่ในกลุ่มที่ไม่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือเลย จึงทำโครงการ “ลำปางไม่ทิ้งกัน” รวบรวมเงินของข้าราชการซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบมาได้ประมาณล้านกว่าบาท ช่วยทำอาหารแจกคนกลุ่มนี้ได้ 60 วัน โดยซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรที่ส่งของไปขายในตลาดไม่ได้ นั่นทำให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้จนพ้นวิกฤตในช่วงนั้น โดยใช้งบประมาณฉุกเฉินจากรัฐไปแค่แสนกว่าบาท จากที่ได้จังหวัดละ 5 ล้านบาท”

ส่วนสาเหตุที่จังหวัดลำปาง มีประชาชนไปลงทะเบียนพร้อมรับวัคซีนมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากกรุงเทพมหานครนั้น ผู้ว่าฯ ลำปางเปิดเผยว่า เราส่งเจ้าหน้าที่ไปคุยกับประชาชนว่าเรามีแผนจะฉีดวัคซีนให้ได้ประมาณ 5 แสนคน คือ 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรภายในเดือนกันยายน เพื่อให้กลับมาเปิดการท่องเที่ยวได้ในเดือนตุลาคม ประชาชนจึงให้ความร่วมมือ แต่แผนนี้ก็ต้องปรับเปลี่ยน เพราะรัฐบาลปรับแผนไปให้วัคซีนกับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงก่อน ผลสำเร็จที่เห็นได้ชัดคือ การที่จังหวัดลำปางปลอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยผู้ว่าฯ ได้ประกาศไว้ผ่านทางสื่อต่าง ๆ ว่า

“ขณะนี้ (11 มิถุนายน 2564) จังหวัดลำปางได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่าเป็นจังหวัดที่ปลอดเชื้อโควิด-19 หลังรักษาผู้ป่วยคนสุดท้ายและไม่พบผู้ติดเชื้อนานเป็นเวลาครบ 14 วันตามมาตรฐานสากล ด้วยแผนรับมือที่ดีจนจังหวัดลำปางสามารถรับมือการเผชิญเหตุได้เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย จากการเตรียมพร้อมรับมือการแพร่ระบาดโควิด-19 ในเฟส 1-3 ได้อย่างดี ตั้งแต่การแพร่ระบาดรอบแรก”

ท้ายที่สุด ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ มองว่า “การระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นว่า Resilient เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำในอนาคต และในภาวะวิกฤต ผู้นำจะต้องบอกความจริงกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนรับรู้ถึงปัญหาในสถานการณ์ จะทำให้ช่วยกันอุดช่องโหว่ที่เกิดขึ้นได้เร็ว ก็จะสามารถกลับคืนมาจากภาวะวิกฤตได้เร็ว และเศรษฐกิจจะฟื้นคืนอย่างรวดเร็ว ผู้คนจะกลับมามีความสุข หวังว่าประเทศไทยจะสามารถรีบกลับมามีความสุขได้เหมือนเดิม”



ดร.สันติธาร เสถียรไทย: สิงคโปร์ ปรับตัวเร็ว ใช้ข้อมูลนำ สร้างกลไกตรวจ ติดตาม ปรับแผน จัดการวิกฤตโควิด-19

ดร.สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท Sea Group ร่วมเวทีเสวนาครั้งนี้ในหัวข้อ “Stories of Resilient Leaders: Vital Roles in the COVID-19 Response”

ดร.สันติธารได้เล่าถึงบทบาทสำคัญของผู้นำที่ยืดหยุ่นในการรับมือโควิด-19 ด้วยการแชร์ประสบการณ์ที่ตนได้ทำงานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ พร้อมวิเคราะห์นโยบายและการรับมือกับโควิด-19 ของผู้นำ โดยหยิบยกแนวคิด “3 อยู่ อยู่รอด อยู่เป็น อยู่ยืน” มาใช้เป็นกรอบหลักในการเล่าและวิเคราะห์ โดยช่วง อยู่รอด หมายถึง Lockdown ปิดเมืองเป็นวงกว้าง คนถูกจำกัดการเคลื่อนที่อย่างเข้มข้น เพื่อหยุดการระบาดได้ อยู่เป็น คือ New Abnormal เปิดเมืองบ้างแต่ยังไม่สมบูรณ์ กิจกรรมบางอย่างยังทำไม่ได้ มีความเสี่ยงอาจกลับไปปิดใหม่ได้ และสุดท้าย อยู่ยืน คือ New Normal ที่มนุษย์เอาชนะไวรัสได้แต่โลกอาจเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร เทรนด์แห่งโลกอนาคตจะมาถึงเร็วขึ้น ซึ่ง Resilient Leader คือผู้นำที่พาคนในสังคมผ่านช่วงอยู่รอด อยู่เป็น และอยู่ยืน ได้อย่างสมบูรณ์

“ประเทศสิงคโปร์ได้ดำเนินงานในช่วง ‘อยู่เป็น’ ค่อนข้างดี ซึ่งช่วงนี้เป็นหัวใจสำคัญ ข้อที่น่าเรียนรู้คือ ผู้นำตัดสินใจเร็ว เห็นได้จากการปิดประเทศแม้ผู้ติดเชื้อยังมีไม่มาก เพราะพบว่าเชื้อโควิด-19 ที่กลายพันธุ์สามารถแพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น หากปิดเมืองช้าไปเพียงนิดเดียวก็จะมีผู้ติดเชื้อในหลักพัน ไปจนถึงหลักหมื่น หลักแสน ยากต่อการควบคุม อีกทั้งยังคงตรวจหาเชื้อแม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นแล้ว โดยเน้นการใช้ข้อมูลในการออกแบบระบบติดตามตัว เน้นการตรวจอย่างรวดเร็วให้กลุ่มอาชีพที่ต้องพบปะคนเยอะ เช่น คนขับแท็กซี่ และมีการแจกพวกกุญแจที่ติดตั้งบลูทูธให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้สามารถตรวจสอบและติดตามได้ทันทีหากเป็นผู้ติดเชื้อ และสามารถนำข้อมูลนั้นมาปรับแผนได้” ดร.สันติธารสะท้อนถึงความเป็น Resilient City ในประเทศสิงคโปร์ ได้อย่างน่าสนใจ

ท้ายที่สุด ดร.สันติธาร สรุปทิ้งท้ายว่า “ลักษณะการทำงานของผู้นำรุ่นใหม่ที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในช่วงวิกฤตโควิด ต้องไม่ยึดติดกับชัยชนะของวันวาน ต้องรีบเตรียมโจทย์ใหม่ เช่น พอควบคุมโรคได้ ต้องคิดถึงการจัดการเรื่องวัคซีนต่อทันที และไม่มีคนคนเดียวที่มีคำตอบทุกอย่าง

ผู้นำต้องทำให้คนมาช่วยกันรับฟังและสื่อสารด้วยความเข้าใจให้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนเห็นภาพร่วมกัน” 



ศิริพร พรมวงศ์: ถอดโมเดล “คลองเตยดีจัง” ใช้ระบบฐานข้อมูล ให้ชุมชนมีบทบาทนำช่วยจัดการวิกฤตโควิด-19

ขณะที่ นางสาวศิริพร พรมวงศ์ หัวหน้าโครงการคลองเตยดีจัง กล่าวในหัวข้อ “Stories of Resilient Leaders: Vital Roles in the COVID-19 Response” เช่นกัน โดยเล่าว่า เธอทำงานในคลองเตยมาประมาณ 9 ปี โดยได้ตั้งทีมรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่แล้ว และคาดการณ์ล่วงหน้าไว้ว่าในชุมชนอาจจะเป็นกลุ่ม Super spreader เนื่องจากประชากรในคลองเตยมีประมาณ 100,000 กว่าคน มีชุมชนแออัด 43 ชุมชน เป็นกลุ่มเปราะบางทั้งทางด้านเศรษฐกิจ วิถีชีวิตและที่อยู่อาศัย ดังนั้น โครงการคลองเตยดีจัง จึงได้ทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อที่ชื่อว่า ฮอตไลน์ คลองเตย เตรียมไว้เพื่อรับมือกับผู้ติดเชื้อในชุมชนคลองเตย

“ในชุมชนแออัด หากไม่ทำฐานข้อมูลจะไม่สามารถตรวจสอบผู้ติดเชื้อได้ ซึ่งจะทำให้ตรวจสอบได้ยากว่ามีกลุ่มเปราะบางอยู่บริเวณใดบ้าง ดังนั้น สิ่งแรกที่โครงการคลองเตยดีจังทำคือ ระบบฮอตไลน์ หรือ“ระบบฐานข้อมูล” ที่ใช้เพียงแค่โปรแกรม Microsoft Excel หรือ Google Sheets เพื่ออัปเดตและติดตามข้อมูลให้ทราบว่า กลุ่มเสี่ยงอยู่บริเวณใด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการ “แสดงข้อมูล” และเป็นประโยชน์ต่อการประสานงานร่วมกับประธานชุมชนและคนในชุมชน โดยผู้ร่วมปฏิบัติงานจะมีทั้ง Case Manager และ Case Worker ทำหน้าที่ติดตามคนติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง มีประธานชุมชนเป็นตัวแทนประสานงานกับชุมชน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ มาร่วมงาน เช่น กรมควบคุมโรค โดยสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สำนักงานเขตคลองเตย เข้ามาตรวจเชิงรุก รวมถึงการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐ”

อีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนให้เห็นว่า “โครงการคลองเตยดีจัง” พยายามดำเนินงานโดย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” คือ เนื่องจากในชุมชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนใช้แรงงานจากต่างด้าวที่ถูกกักตัวในชุมชน โครงการคลองเตยดีจัง จึงมีแนวทางการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ โดยการทำข้าวกล่องแจกจากครัวกลางของชุมชน รวมถึงการแจกถุงยังชีพไปพร้อม ๆ กับการควบคุมโรคระบาด ซึ่งถือเป็นกลไกที่ยังคงดำเนินอยู่ เพื่อทำให้ชุมชนคลองเตยรับมือต่อการเป็น Super spreader เชื้อโควิด-19 ได้” นางสาวศิริพร กล่าว

ท้ายสุด นางสาวศิริพร ทิ้งท้ายไว้ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ว่า “การทำงานจะต้องเน้นการบาลานซ์อำนาจ เน้นทำงานโดยให้ชุมชนนำ เพื่อให้คนในชุมชนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ เพราะข้อดีคือ จะทำให้เห็นความเป็นผู้นำจากชุมชนมากขึ้น และสามารถจัดการปัญหาได้ดีขึ้นด้วย”



ดร.พิเศษ สอาดเย็น: ร่วมสร้างสังคมยุคหลังโควิด-19 ด้วยหลักนิติธรรม ผ่านความเป็นผู้นำทุกระดับในสังคม

ท้ายสุดของงานเสวนา ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้พูดถึงบทบาทสำคัญของผู้นำที่ยืดหยุ่น การทำงานของผู้นำที่โลกในปัจจุบันต้องการ

โดยชี้ให้เห็นว่า “หลักนิติธรรม การพัฒนา และความเป็นผู้นำ” ล้วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์วิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่แสดงให้เห็นว่า การระบาดของโรคไม่ได้เปลี่ยนแปลงแค่สภาพแวดล้อมการทำงาน หรือเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของมนุษยชาติเท่านั้น แต่ยังเปิดเผยให้เห็นถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน และความไม่ยุติธรรมในสังคมอีกด้วย

“โรคระบาดโควิด-19 ไม่ได้เปลี่ยนแค่วิถีชีวิตของเราเท่านั้น แต่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันและความไม่ยุติธรรมมากขึ้นด้วยในสังคม ซึ่งเราสามารถนำหลักนิติธรรมมาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางมากขึ้นได้ ผู้นำจะต้องมีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และใช้หลักนิติธรรมเป็นแนวทางชี้นำเพื่อสร้างสังคมที่มีสันติภาพและมีความเท่าเทียม ทัศนคติ ระบบ ทีมงานจะต้องมีความพร้อมต่อการบูรณาการ รวมถึงความสามารถในการออกแบบนโยบายใหม่ๆ ที่จะตอบสนองปัญหาในอนาคต Resilient Leader จึงเป็นคุณลักษณะสำคัญของผู้นำที่ต้องมองไปข้างหน้าและเตรียมตัวพร้อมรับกับทุกสถานการณ์” ดร.พิเศษ กล่าว

ดังนั้น TIJ ขอยืนยันด้วยความเชื่อมั่นว่า การส่งเสริมหลักนิติธรรมให้เป็นเหมือนหลักการของสังคม จะเป็นหลักการในการรับมือเพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าเดิมหลังโควิด-19 และ TIJ ยังพร้อมให้ความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เพื่อเปิดมุมมองที่หลากหลายให้สามารถนำหลักนิติธรรมไปเป็นการดำเนินการได้จริงในอนาคต ตามหลักคิดของชาว TIJ ว่า “ความยุติธรรมเป็นเรื่องของทุกคน”

สามารถรับชมคลิปย้อนหลังได้ที่

https://www.facebook.com/watch/live/?v=1096623854165969&ref=watch_permalink