คณะวิศวะจุฬาฯ เจ๋งพัฒนาเครื่องแบ่งบรรจุวัคซีนอัตโนมัติ

2021-08-04 13:59:15

คณะวิศวะจุฬาฯ เจ๋งพัฒนาเครื่องแบ่งบรรจุวัคซีนอัตโนมัติ

Advertisement

"อนุทิน"ชมการสาธิตเครื่องแบ่งบรรจุวัคซีนอัตโนมัติ พัฒนาโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และภาคเอกชน ช่วยดูดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า แบ่งบรรจุลงเข็มฉีดยาได้แม่นยำ รวดเร็ว 4 ​นาทีทำได้ 12 เข็ม ทำให้มีวัคซีนเพิ่มขึ้น 20 % ลดภาระงาน เตรียมหารือนำมาใช้งานจริง

เมื่อวันที่ 4 ส.ค นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมรับชมการสาธิตต้นแบบเครื่องแบ่งและบรรจุวัคซีนด้วยระบบอัตโนมัติ (Automate Vaccine) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาร่วมกันโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และภาคเอกชน

นายอนุทินให้สัมภาษณ์ว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนชนิดบรรจุหลายโดส (Multiple Dose Vial) โดย 1 ขวดใช้สำหรับฉีด 10 โดส โดสละ 0.5 มิลลิลิตร แต่ผู้ผลิตบรรจุวัคซีนมาให้เกิน คือ บรรจุมา 6.5 มิลลิลิตร ที่ผ่านมาบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝน มีทักษะสามารถดูดวัคซีนได้มากถึง 11-12 โดสต่อขวด โดยต้องใช้เข็มฉีดยาชนิดที่ลดปริมาณยาคงค้างในกระบอกฉีดยา (Low Dead Space Syringe) ซึ่งทั่วโลกมีความต้องการใช้จำนวนมากทำให้เกิดความขาดแคลน ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จึงร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และภาคเอกชน พัฒนานวัตกรรมเครื่องแบ่งและบรรจุวัคซีนด้วยระบบอัตโนมัติ ทำให้การดูดวัคซีนและแบ่งบรรจุวัคซีนแต่ละโดสมีความแม่นยำตามที่กำหนด


นายอนุทิน กล่าวต่อว่า การแบ่งบรรจุวัคซีนนั้น เจ้าหน้าที่จะเตรียมเข็มฉีดยาวางไว้บนแท่นจำนวน 12 หลอด จากนั้นนำขวดวัคซีนวางไว้ในจุดที่กำหนด เครื่องจะดูดวัคซีนออกมาจนหมดขวดโดยใช้หัวดูดสุญญากาศใช้หลักการดูดของเหลวโดยมี Air Cushion ทำให้วัคซีนไม่สัมผัสกับหัวดูดโดยตรงแล้วจะเคลื่อนไปแบ่งบรรจุลงเข็มฉีดยาตามจำนวนที่กำหนด คือ 0.5 มิลลิลิตรเท่ากันทั้ง 12 หลอด โดยเครื่องทำงานแบบสายพาน ทำให้แบ่งบรรจุวัคซีนลงหลอดฉีดยาอย่างต่อเนื่อง แม่นยำ และรวดเร็ว โดยใช้เวลาประมาณ 4 นาที จากนั้นปิดหลอดด้วยเข็มฉีดยา และนำมาเก็บใส่ถาดบรรจุวัคซีนเพื่อนำไปใช้ฉีดต่อไป

“เครื่องแบ่งบรรจุวัคซีนช่วยแบ่งเบาบุคลากรทางการแพทย์ในการดูดวัคซีนออกจากขวดได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว ทำให้มีวัคซีนในการฉีดเพิ่มขึ้น 20% ช่วยให้จุดฉีดการฉีดวัคซีนในจุดขนาดใหญ่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยลดการใช้ Low Dead Space Syringe นอกจากนี้ ยังมีความปลอดภัยเพราะกระบวนการไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อน เข็มและหลอดฉีดยาที่แบ่งบรรจุจะถูกเปลี่ยนใหม่ทุกครั้ง จึงไม่มีโอกาสเจือปนกันของวัคซีนแต่ละขวด ส่วนการนำมาใช้งานจริงจะมีการหารือกันต่อไป” นายอนุทิน กล่าว