กมธ.งบประมาณมีมติคืนงบที่ตัดได้ 1.6 หมื่นล้านเข้างบกลาง
เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่รัฐสภา ในการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่ประชุมมีการพิจารณาการแปรญัตติคืนงบประมาณว่าควรจัดสรรงบประมาณที่อนุกรรมาธิการปรับลดไปให้กับหน่วยงานไหน โดยนายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการได้เสนองบประมาณที่ปรับลดได้ ไปเพิ่มในส่วนของงบกลางจำนวน 16,362 ล้านบาท โดยอ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19
ขณะที่ น.ส. ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอให้ปรับเพิ่มงบประมาณให้กับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 13,200 ล้านบาท เพื่อชดเชยรายได้ท้องถิ่นที่หายไปจากภาษีที่ดิน รวมทั้งขอเพิ่มงบประมาณให้กับกองทุนสวัสดิการต่างๆ ที่ทำหน้าที่ดูแลประชาชน แต่กลับถูกตัดงบประมาณลงในปีงบประมาณ 2565 ได้แก่ สำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 800 ล้านบาท, กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จำนวน 631 ล้านบาท, สำนักงานกองทุนประกันสังคม เงินสมทบประกันสังคม จำนวน 1,669 ล้านบาท
ผลการลงมติปรากฏว่าเห็นด้วย 35 ต่อ 7 และงดออกเสียง 3 เสียง โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล 6 คน ได้แก่ 1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล 2.น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3.น.ส.วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4.น.ส.วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กทม. 5.นายวาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 6.นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่วนอีก 1 เสียง คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ในขณะที่ กมธ.จากพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยตามที่นายบุญสิงห์ ส.ส. พลังประชารัฐเสนอ
ทั้งนี้ น.ส. ศิริกัญญา ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การเพิ่มงบเข้างบกลางโดยบอกว่าเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 นั้นฟังเหมือนดูดี แต่ความจริงแล้วเมื่อเข้าไปอยู่ในมือของนายกฯเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะนำเงินก้อนนี้ไปใช้กับเรื่องอะไร ใช้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลหรือไม่ และจะนำไปใช้ในการแก้ปัญหาโควิด-19 จริงหรือไม่เราอาจไม่ทราบได้ ในขณะที่ท้องถิ่นขาดรายได้ ขนาดที่จะไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงาน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุก็ตั้งไว้ไม่พอจ่าย เราคิดว่าการคืนงบให้กับหน่วยงานที่มีภารกิจโดยตรง มีแผนการใช้จ่าย และมีใบเสร็จจะเป็นการช่วยเหลือประชาชนมากกว่า