ผงะ!ตรวจซากกระทิงเจอเชื้อ "ลัมปี สกิน"

2021-07-14 14:53:37

ผงะ!ตรวจซากกระทิงเจอเชื้อ "ลัมปี สกิน"

Advertisement

"หมอล็อต"จ่อลงพื้นที่ อช.กุยบุรี หลังพบซากกระทิงติด "ลัมปี สกิน"


เมื่อวันที่ 14 ก.ค. นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรี เปิดเผยว่าจากที่ทางอุทยานแห่งชาติกุยบุรีพบซากกระทิงเพศผู้ อายุประมาณ 15-20 ปี น้ำหนักประมาณ 1,200-1,300 กิโลกรัม นอนตายอยู่ในลำห้วยท้องที่หมู่บ้านรวมไทย หมู่ที่ 7 หมู่บ้านรวมไทย ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย.64 ต่อมา น.ส.ภาวินี แก้วแกม สัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน เจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรบ้านยางชุม และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุและใช้เครื่องสแกนเพื่อตรวจหาวัตถุโลหะในซากกระทิงไม่พบแต่อย่างใด ก่อนทำการผ่าซากและฝังกลบตามวิชาการ เบื้องต้นสาเหตุการตายเกิดจากการต่อสู้กันเอง จากนั้นได้ส่งชิ้นเนื้อกระทิงส่งตรวจหาเชื้อลัมปีสกิน Lumpy Skin Disease Virus (LSDV) โดยวิธี Real-time PCR ยังห้องปฏิบัติการ เบื้องต้นตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อลัมปีสกิน จึงสั่งการให้ น.ส.สุพร พลพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี แจ้งทางจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด นายอำเภอกุยบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบพร้อมทั้งหาแนวทางมาตรการในการป้องกันโรค


“ขณะนี้พบฝูงกระทิงหากินในพื้นที่ตามธรรมชาติมากกว่า 300 ตัว แต่มีซากกระทิงติดเชื้อลัมปี สกิน 1 ตัวคาดว่าติดเชื้อจากฟาร์มปศุสัตว์ในพื้นที่ใกล้เคียง ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่อุทยานกุยบุรีติดตามพฤติกรรมการหากินและเฝ้าสังเกตอาการของกระทิงทุกระยะ และในวันที่ 16-17 ก.ค.นี้ น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เพื่อติดตามข้อมูลทางวิชาการและวางแผนป้องกันปัญหากระทิงติดเชื้อเพิ่ม เนื่องจากการป้องกันการติดเชื้อในสัตว์ป่าจะทำได้ยากมาก ทั้งการฉีดวัคซีนหรือป้องกันการติดเชื้อที่มีพาหนะจากแมลง แต่เบื้องต้นสามารถป้องกันได้โดยประสานกับสำนักงานปศุสัตว์อำเภอกุยบุรีปฏิบัติการเชิงรุกป้องกันโรคจากโคและกระบือในพื้นที่ 4 หมู่บ้าน ต.หาดขาม เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคเชื้อลัมปีสกินโดยเร็วที่สุด