"หมออุดม" ชงฉีดวัคซีนเข็ม 3 บุคลากรการแพทย์ รับ "ซิโนแวค" กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้น้อยจริง แต่มีประโยชน์ป้องกันการเสียชีวิต ตรงนี้ก็คุ้มค่าแล้ว เผยข้อมูลทางคลินิกวัคซีน mRNA กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีหลักพันถึงหมื่นยูนิต ส่วน "แอสตร้าเซนเนก้า ภูมิคุ้มกันขึ้นระดับหลักพันต้น ๆ ขณะที่ "ซิโนแวค" ภูมิขึ้นระดับหลักหลายร้อยปลายๆ
เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ศ.นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงข่าวการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มที่ 3 ว่า จากการประชุมคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของ ศบค.ที่มี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน ได้มีการหารือร่วมกันเมื่อวันทื 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้รายงานผลการประชุมต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯ อยากให้มาแถลงทำความเข้าใจต่อประชาชน ทั้งในนามตัวแทนของ ศบค. และตัวแทนของรัฐบาล โดยขอชี้แจงว่า ขณะนี้ทั่วโลกการเกิดระบาดโควิด -19 สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) กว่า 96 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย เชื้อนี้ทำให้อาการเปลี่ยนแปลงเป็นปอดอักเสบ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเร็วใน 3-5 วัน ทำให้เตียงผู้ป่วยตึงทุกสี โดยเฉพาะสีแดง ทั้งนี้ การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสนั้น เป็นเรื่องปกติ แต่ที่สำคัญคือมีผลต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีน ซึ่งวัคซีนปัจจุบันผลิตมาจากสายพันธุ์อู่ฮั่น ยังไม่มีวัคซีนสำหรับเชื้อกลายพันธุ์โดยเฉพาะ พอขณะนี้มีการระบาดของสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) เดลตา (อินเดีย) ประสิทธิภาพประสิทธิผลจึงลดลง เป็นเหตุผลสำคัญที่ว่าการกลายพันธุ์ทำให้ดื้อต่อภูมิจากวัคซีน ไม่ใช่วัคซีนไม่ดี ดังนั้นต้องมีการหาวัคซีนเจนเนอเรชั่นใหม่ ที่ครอบคลุมเชื้อพันธุ์อัลฟา และเดลตา ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี ทุกบริษัทกำลังพัฒนา คาดว่าเร็วสุดอาจปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องคำนึงเวลาสั่งซื้อวัคซีนต่อไปข้างหน้า จึงได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาติดตามผลเพื่อพิจารณาการสั่งจองวัคซีนรุ่นต่อไปได้เร็ว ซึ่งจะประชุมอีกครั้งวันที่ 9 ก.ค.นี้
ศ.นพ.อุดม กล่าวต่อว่า ส่วนการฉีดวัคซีนกระตุ้น (Booster Dose) เพื่อให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้น ต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ มีการศึกษา และหารือการใช้สลับชนิดวัคซีน โดยมีการหารือมานาน 2-3 เดือนแล้ว ซึ่งยังไม่มีประเทศใดทำการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 มีที่ยูเออี หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรต และบาเรน มีการศึกษาคนที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม และกระตุ้นเข็ม 3 แต่เป็นซิโนฟาร์ม แต่เป็นการรับรองใช้โดยหน่วยงานภายในประเทศเขาเองจะเอามาเป็นบรรทัดฐานไม่ได้ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ทั้งศิริราช และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาการให้วัคซีน ทั้งเข็มกระตุ้น การสลับชนิดวัคซีน ทางสธ.ศึกษาเรื่องนี้ คาดว่า 1 เดือนจะทราบผล
ถ้าดูข้อมูลในประเทศอังกฤษ จำนวน 3.7 ล้านคน พบว่าไฟเซอร์ 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันลดลงเมื่อเจอสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) 7.5 เท่า ต่อสายพันธุ์เดลตา 2.5 เท่า แอสตร้าเซนเนกา 2 เข็ม เจอเบตาลดลง 9 เท่า เชื้อเดลตา สร้างภูมิคุ้มกันลดลง 4.3 เท่า ส่วนวัคซีนซิโนแวค อังกฤษไม่ได้ใช้จึงไม่มีข้อมูลตรงนี้ แต่มีข้อมูลการใช้ในประเทศไทย 2 เข็ม เจอเดลตาภูมิลดลง 4.9 เท่า โดยสรุปข้อมูลทางคลินิกยอมรับว่าวัคซีน mRNA กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีหลักพันถึงหมื่นยูนิต รองลงมาคือแอสตร้าฯ ภูมิคุ้มกันขึ้นระดับหลักพันต้นๆ ซิโนแวค ภูมิขึ้นระดับหลักหลายร้อยปลายๆ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการป้องกันโรค ไฟเซอร์ เดิมป้องกันได้ 93% แต่กับสายพันธุ์เดลตาลดเหลือ 88% ส่วน แอสตร้า ป้องกันเชื้อจาก 66% เหลือ 60% ส่วนการป้องกันอาการรุนแรงจนนอนรพ. และเสียชีวิต พบว่า ไฟเซอร์ป้องกัน 96% แอสตร้าป้องกัน 92% ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ ส่วนซิโนแวค ข้อมูลน้อย แต่ถ้าเทียบจากภูมิคุ้มกันคงป้องกันเดลตาไม่ดี แต่ข้อมูลที่ภูเก็ต ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงเข้า รพ.ลดการเสียชีวิตได้มากกว่า 90%
จากข้อมูลเหล่านี้จึงมีการพิจารณาและเสนอว่าเมื่อต้องมีการใช้ บูสเตอร์โดส ต้องให้กับบุคลากรทางการแพทย์สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 7 แสนคน รวมถึงเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่ปฏิบัติงานด่านหน้า ชายแดน หลังจากนั้นจะเป็นกลุ่มเสี่ยงรองลงมาคือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทั้งโรคหัวใจ โรคมะเร็ง ผู้ที่ได้ยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น ทั้งนี้วัคซีนที่ใช้นั้น หากไฟเซอร์ไม่มาในสัปดาห์นี้ ก็จะฉีดแอสตร้าฯ ให้เลย เพราะบุคลากรสาธารณสุขสำคัญมากที่เราต้องปกป้องให้ได้ ส่วนถ้าไฟเซอร์เข้ามาทีหลังแน่ก็เลือกไม่ไม่ได้ เรากระจายไปตามล็อตวัคซีนที่เข้ามา แล้วแต่ว่าใครจะได้รับตัวไหน แต่ละประเทศก็ทำเช่นนี้ทั้งนั้น ขอให้เข้าใจด้วย ส่วนเรื่องความปลอดภัยในการฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม แล้วบู๊สด้วย mRNA หรือไวรัลเว็คเตอร์ อยู่ระหว่างการศึกษาคาดว่าผลจะออกใน 1 เดือน
สำหรับคนทั่วไปที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้วไม่ว่าชนิดไหน ที่จะไปจองเข็ม 3 ชนิด mRNA เนื่องจากกรณีที่ฉีดซิโนแวคพบว่าภูมิคุ้มกันจะลดลดประมาณครึ่งหนึ่งช่วง 3-4 เดือนหลังฉีดเข็มที่ 2 แล้ว ส่วนคนฉีดแอสตร้าฯ ค่าดังกล่าวจะลดลงในช่วง 6 เดือน ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องไปจองวัคซีนชนิด mRNA เพื่อมาฉีดเป็นเข็มที่ 3 เพราะหากดูการทิ้งห่างของเข็ม 2 และเข็ม 3 จะได้วัคซีนรุ่นเก่า จึงอยากให้รอวัคซีนรุ่นใหม่ที่เร็วสุดปลายปีนี้หรือปีหน้า ซึ่งจะครอบคลุมสายพันธุ์และปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ เรารีวิวข้อมูลแล้วไม่ได้จำเป็นสำหรับคนทั่วไป และตอนนี้กำลังดูคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกว่าจะฉีดให้ใครบ้าง ย้ำว่าการฉีดเข็ม 3 นั้น เป็นบู๊สเตอร์ ไม่ใช่สำหรับคนทั่วไป ตอนนี้ยอมรับว่าซิโนแวคกระตุ้นภูมิได้น้อยกว่าเพื่อน จึงต้องได้รับการกระตุ้นภูมิขึ้นมาก่อน แอสตร้าฯ ไฟเซอร์ ก็ต้องบู๊สเตอร์เหมือนกัน ตอนนี้เราคิด วางแผนทุกย่างบนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการทั้งนั้น
เมื่อถามผลข้างเคียงของวัคซีนไฟเซอร์ต่อเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจ ศ.นพ.อุดม กล่าวว่านี่เป็นสิ่งที่เรากังวลมาก จึงไม่ให้ฉีดในเด็ก เพราะที่อเมริกาพบกล้ามเนื้อหัวใจ 1,200 ราย และศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ (CDC) ก็ยอมรับว่าเป็นผลมาจากวัคซีน mRNA แล้ว รวมถึงอิสราเอลก็รายงานพบจำนวนร้อยรายเช่นกัน ดังนั้นเราจึงลังเลมาก ขณะที่ข้อมูลในเด็กติดเชื้อไม่มาก และอาการไม่รุนแรงจึงเอามาฉีดในผู้ใหญ่ก่อน ขณะเดียวกันซิโนแวคที่จีนก็กำลังศึกษาการฉีดในเด็ก ประมาณไม่เกินปลายปีนี้จะทราบผลแล้ว เมื่อถามว่าขณะนี้มีการดูแคลนวัคซีนซิโนแวค แลเกี่ยงงอนไม่อยากฉีด ศ.นพ.อุดม กล่าวว่า คิดว่าฟังแล้วน่าจะเข้าใจ กระตุ้นภูมิได้น้อยก็จริง แต่มีประโยชน์ในการป้องกันการเสียชีวิต ตรงนี้ก็คุ้มค่าแล้ว ซึ่งมีข้อมูลชัดทั้งภูเก็ต เชียงรายที่ฉีดซิโนแวคครบ ไม่มีใครอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต ที่ชิลีฉีด 10 กว่าล้าน ตอนนี้มีการระบาด แต่อัตรการเสียชีวิตน้อยมากเพราซิโนแวคป้องกันตรงนี้ ดังนั้นอย่าไปดูแคลนเลย เหมือนที่หลายคนบอกว่าวัคซีนที่ดีที่สุดคือฉีดให้เร็ว แล้วต่อไป หากอยากจะฉีดยี่ห้ออะไร ปีหน้าจะมีออกมาจำนวนมาก