สมาพันธ์ผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืนฯพร้อมศิลปินยื่นหนังสือสภาฯ ย้ำ 8 ข้อเรียกร้องช่วยคนกลางคืน จี้ปลดล็อกเปิดบริการได้ 1 ส.ค.นี้ "พิธา"วอนรัฐสนใจช่วยเหลือคนกลางคืนกระทบหนักปิดก่อนเปิดสุดท้าย จี้เลิกใช้มาตรการเหมารวม
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่รัฐสภา สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย นำโดย นายนนทเดช บูรณะสิทธิพร ตัวแทนชมรมผู้ประกอบการสถานบันเทิง ผับ บาร์ และนายธัญญ์นิธิ ปภัสสุรีย์โชติ ตัวแทนชมรมคนดนตรีแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยศิลปินนักร้องหลากหลายวง อาทิ Slot Machine , Tattoo colour , Cocktail , Apartment Khunpa ยื่นจดหมายเปิดผนึกเพื่อทวงถาม และพิจารณาร่วมกันหาทางออก กรณีการขอมาตรการผ่อนปรน และมาตรการเยียวยา ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการอาชีพธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิง ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 ต่อ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาล
นายธัญญ์นิธิ กล่าวว่า จากประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) หรือ ศบค. ในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด – 19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิงทั้งหมด ซึ่งไม่ได้กระทบเพียงเจ้าของกิจการ แต่ยังส่งผลถึงพนักงาน ลูกจ้าง และกลุ่มนักดนตรีอิสระ ที่รับค่าจ้างแบบรายวัน ซึ่งที่ผ่านมายังมีผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาจากภาครัฐได้ครบถ้วน ทางสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนฯ จึงขอยืนยันในข้อเรียกร้อง ดังนี้ 1.ขอให้ยกเลิกคำสั่งปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม 2.ขอให้มีคำสั่งปลดล็อกให้ธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิง ได้กลับมาเปิดบริการ และสามารถจัดกิจกรรมต่างๆได้ภายในวันที่ 1 ส.ค.นี้ หรือกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการอนุญาตให้กลับมาประกอบกิจการ และอาชีพได้อีกครั้ง 3.ผ่อนปรนให้สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านได้ 4.ผ่อนปรนให้มีการจัดมหรสพ โดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของศบค. เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค
5.พิจารณาจัดสรรวัคซีนให้ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานประกอบการธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิงโดยเร็วที่สุด 6.ให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเยียวยา การพักชำระหนี้ และการกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ ต่อผู้เดือดร้อนตั้งแต่การออกคำสั่งครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 มี.ค.63 7.เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน หรือประชาชนในกลุ่มภาคธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อน เข้าร่วมรับฟัง และเสนอแนะ ในกระบวนการออกมาตรการต่างๆ และ 8.เปิดช่องทางการสื่อสาร เพื่อรับฟังความคิดเห็น และความต้องการของประชาชนที่เดือดร้อน
นายนนทเดช กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราเป็นกลุ่มคนที่ถูกทอดทิ้งในการขอความช่วยเหลือจากทุกที่ แต่ทางสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนฯ พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้เราไม่ตายหมู่ กว่า 250 วัน ที่เราถูกให้ตกงานไม่มีรายได้ ไม่ได้รับการเยียวยา เราอยู่กับโควิด - 19 มานานมาก เราไม่อยากให้ใครฆ่าตัวตาย หรือทิ้งใครไว้ข้างหลังอีกแล้ว วันนี้เราพร้อมที่จะหารือ และหาทางออกร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหา
ด้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวหลังรับหนังสือว่า ผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิง เป็นกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ในทุกรอบ และเป็นอาชีพที่ค่อนข้างหนักกว่าคนอื่น เพราะถูกปิดก่อนแต่เปิดทีหลัง และการประกอบอาชีพอิสระบางครั้งไม่ได้อยู่ในระบบจึงเข้าไม่ถึงการเยียวยา ดังนั้น การที่เขากลั้นหายใจนานกว่าคนอื่น จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสนใจ
นายพิธา กล่าวต่อว่า ข้อเรียกร้องในวันนี้โดยรวมอาจไม่แตกต่างกับกลุ่มอื่นที่ได้ออกมาเรียกร้องต่อรัฐบาลในช่วงเวลานี้เช่นเดียวกันที่ต้องรับฟังและแก้ปัญหา คือ มาตรการของรัฐต้องไม่เหมารวม รัฐบาลได้สั่งปิดร้านเหล่านี้มามากกว่า 200 วัน จึงมีเวลาคิดมากมายที่จะตรวจปูพรมและปิดเมื่อเกิดเหตุได้ ไม่ใช่เหมารวมเช่นนี้ เรื่องวัคซีน หากวันนี้มีวัคซีนที่ดีทุกคนก็คงได้เข้าไปแถลงข่าวในสภาและคงก็จะกลับมาทำมาหากินกันได้ตามปกติ