นายกฯเผยเคาะวงเงินเยียวยา 1 เดือนแคมป์ก่อสร้าง ร้านอาหาร 7,500 ล้าน ลูกจ้างได้ 50 % ไม่เกิน 7,500 บาท เพิ่มให้อีกคนละ 2,000 บาท ส่วนนายจ้างรับ 3,000 บาทต่อหัว
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมหารือถึงการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) และมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งมาตรการการแพร่ระบาดโควิด-19 ตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ว่า รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณราว 7,500 ล้านบาท เพื่อเยียวยาประชาชนในกลุ่มแรงงาน 6 จังหวัด ได้แก่ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร เป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยรัฐบาลและกองทุนประกันสังคมได้เตรียมงบประมาณไว้แล้ว ประมาณ 7,500 ล้านบาท สำหรับกิจการใน 6 จังหวัด ได้แก่ก่อสร้าง ที่พักแรมอำนวยการด้านอาหาร ศิลปะบันเทิง และนันทนาการ โดยรัฐบาลจะได้จ่ายเพิ่มเติมให้ลูกจ้าง ในระบบประกันสังคมจำนวน 2,000 บาท ต่อคน ส่วนนายจ้างหรือผู้ประกอบการจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อคน ของลูกจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการหรือบริษัทสูงสุดไม่เกิน 200 คน เป็นเวลา 1 เดือน รวมถึงกระทรวงแรงงานเข้าไปดูแลในการชดเชย50% ของค่าจ้าง รวมทั้งการดูในเรื่องอาหารด้วย โดยเฉพาะจะพิจารณานำอาหารจากร้านผู้ประกอบการรายย่อยเข้าไปช่วยสนับสนุนจัดส่งให้กับแคมป์คนงานที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะสามารถช่วยสร้างรายได้ ผู้ประกอบการร้านอาหารได้อีกทางหนึ่ง
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ที่ประชุมมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้างร้านอาหารและไซต์งานก่อสร้าง ที่ได้รับผลกระทบจากการออกข้อกำหนออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 25) ในพื้น กทม.และปริมณฑล 6 จังหวัดเป็น ระยะเวลา 1 เดือน
1.ในระบบประกันสังคม
กรณีลูกจ้าง
-จ่ายชดเชยกรณีเหตุสุดวิสัยร้อยละ 50 ของฐานเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท
-เงินเพิ่มเติม จำนวน 2,000 บาทต่อราย
นายจ้างหรือผู้ประกอบการ
-ได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้างในบริษัท สูงสุดไม่เกิน 200 คน
2.นอกระบบประกันสังคม ข้อมูลเบื้องต้นเป็นฐานข้อมูลที่อยู่ในระบบถุงเงิน ให้ดำเนินการลงทะเบียนเข้าระบบประกันสังคม กรณีลูกจ้างจะได้รับเงิน 2,000 บาทต่อหัว แต่ไม่ได้เงินชดเชยร้อยละ 50 เนื่องจากจ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่ถึง 6 เดือน ส่วนกรณีนายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้างเช่นเดียวกัน สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมได้ เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง สามารถขึ้นทะเบียนผ่านถุงเงิน (หมวดร้านอาหารและเครื่องดื่ม) ได้ภายใน 1 เดือน โดยกระทรวงมหาดไทยจะลงไปตรวจสอบ
เบื้องต้นกรอบวงเงินที่รัฐบาลเตรียมไว้ทั้งหมด 7,500 ล้านบาท แบ่งออกเป็นเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จำนวน 4,000 ล้านบาท และกองทุนประกันสังคม 3,500 ล้านบาท โดยต้องให้ที่ประชุม ครม. ในวันที่ 29 มิ.ย. เห็นชอบก่อน