คกก.โรคติดต่อเห็นชอบระยะห่างฉีด "แอสตร้าเซนเนก้า" 10-12 สัปดาห์

2021-06-14 17:45:27

คกก.โรคติดต่อเห็นชอบระยะห่างฉีด "แอสตร้าเซนเนก้า" 10-12 สัปดาห์

Advertisement

คกก.โรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบกำหนดระยะห่างฉีด "วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า" 10-12 สัปดาห์ หากจำเป็นพิจารณาเพิ่มเป็น 16 สัปดาห์ได้ 

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข  (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่า ที่ประชุมมีมติดังนี้ 1. มอบหมายสถานพยาบาลฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไป อยู่ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ส่วนกระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่จัดสรรจำนวนวัคซีนไปตามเป้าหมายของศบค. 2.เห็นชอบกำหนดระยะห่างในการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 10-12 สัปดาห์ ถ้าจะขยายให้ถึง 16 สัปดาห์ ก็เป็นดุลยพินิจของกรมควบคุมโรค ที่จะกำหนดเป็นนโยบายในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละจังหวัดตามความจำเป็นตามสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน 3.รับทราบความก้าวหน้าการแก้ไขร่างพ.ร.บ.โรคติดต่อ เรื่องการเปรียบปรับกรณีไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า โดยหากฝ่าฝืน ครั้งที่ 1 ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ครั้งที่ 2 ปรับมากกว่า 1,000 บาทแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ครั้งที่ 3 ปรับมากกว่า 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 20,000 บาท

นอกจากนี้ที่ประชุมรับทราบการดำเนินการภูเก็ตแซนบ็อกซ์ ในวันที่ 1 ก.ค. คือ เน้นนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ – ปานกลาง ได้รับวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกครบถ้วนแล้วอย่างน้อย 14 วัน มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนชัดเจน เด็ก 6 ปี ที่เดินทางมากับผู้ปกครอง ผู้ปกครองต้องให้การดูแลอยู่ตลอดเวลา ต้องมีการตรวจหาเชื้อ และปลอดโควิดก่อนเดินทางมาไม่ต่ำกว่า 72 ชั่วโมง เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยต้องมีการตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง คือในวันแรกที่เดินทางมาถึง ในวันที่ 7 และวันที่ 14 และต้องกักตัวเองอยู่ในภูเก็ตจนครบ 14 วันก่อน ถึงจะสามารถเดินทางไปยังจังหวัดอื่นของประเทศไทยได้ ทั้งนี้ มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการภูเก็ตแซนบ็อกซ์เตรียมความพร้อมมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค มาตรการสถานที่

“รายงานจาก ผอ.กองระบาดวิทยา รายงานว่าที่ภูเก็ตมีการฉีดกลุ่มเป้าหมายไปได้ 60 กว่าเปอร์เซนต์ และจะเร่งทำการไล่ฉีดให้ครบเพื่อที่จะทำให้ภูเก็ตสามารถเปิดเมืองได้ตามนโยบายภูเก็ตแซนบ็อกซ์ ทั้งนี้ พอฉีดวัคซีนได้ระดับนี้แล้วจะเห็นได้ชัดว่าอัตราการแพร่ระบาด อัตราการทวีความรุนแรงของโรค หรืออัตราการเสียชีวิตลดน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะฉะนั้นเราจะไล่ฉีดไปในแต่ละจังหวัดต่างๆ ให้มากที่สุด เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในภาพรวมของประเทศ" นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวถึงกรณีเก็บตกกลุ่มลงทะเบียนหมอพร้อมว่า หมอพร้อมที่ลงทะเบียนรับวัคซีนในพื้นที่กทม. นัดฉีดในเดือนมิ.ย. ที่อาจจะยังไมได้รับการถ่ายโอนไปยังระบบใหม่ของกทม. กระทรวงสาธารณสุขก็จะรับคนเหล่านี้ซึ่งเป็นผู้สูงอายุและกลุ่มที่มีโรคประจำตัว มารีบการฉีดวัคซีนเอง โดยหารือ และตัดบัญชีจากกทม. สำนักงานประกันสังคม และกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ภาพรวมระยะห่างการรับวัคซีนระหว่างเข็ม 1 เข็ม 2 ยังเหมือนเดิมคือ 12 สัปดาห์ แต่ถ้ามีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงเช่นการระบาด การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ก็ให้กรมควบคุมโรคหารือคระกรรมการวิชาการในการพิจารณาเพิ่มระยะเวลาห่างระหว่างเข็มได้ตามความเหมาะสม สำหรับกรณีกลุ่มที่ลงทะเบียนหมอพร้อมในกทม.นั้นตรวจสอบตัวเลขอยู่ที่ 1.4 แสนราย เมื่อช่วงกลางวันที่ผ่านมาได้มีการหารือกับกรุงเทพฯ ซึ่งก็ทราบถึงเป้าหมายในการฉีดเรียบร้อยแล้ว สำหรับการทำแซนบ็อกซ์นั้นเมื่อนักท่องเที่ยวมาถึงภูเก็ต ต้องตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 หากพบเชื้อก็เข้าสู่ระบบการรักษาในรพ. หากไม่พบเชื้อ ก็สามารถเที่ยวในภูเก็ตได้ตามเส้นทาง หลักเกณฑ์ที่ศบค. จะพิจารณาในวันที่ 18 มิ.ย. ว่าจะให้เดินทางเที่ยวในภูเก็ตไหน อย่างไรบ้าง แต่หากตรวจครั้งที่ 2 เจอเชื้อก็เข้ารพ. หากไม่พบเชื้อ ก็รอตรวจครั้งที่ 3 หาก ตลอด 14 วันไม่พบเชื้อเลยก็เหมือนการกักตัวแล้ว สามารถเดินทางไปจังหวัดอื่นๆ ได้

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนกลุ่มหมอพร้อมนั้น ตนจะหารือกับผอ.ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อเพื่อจัดระบบรองรับกลุ่มหมอพร้อมที่ถูกกทม.เลื่อนแอบไม่มีกำหนด โดยเริ่มเปิดฉีดวันที่ 17 มิ.ย. เป็นต้นไป หากกทม.สามารถเติมวัคซีนไปในรพ.เอกชนได้ครบ แล้วประชาชนที่ลงทะเบียนหมอพร้อมได้รับการฉีดวัคซีนจากตรงนั้นแล้ว ก็ไม่ต้องมาฉีดที่บางซื่อ ดังนั้นขอให้ประชาชนติดต่อสถานพยาบาลก่อน.