รมว.คลังแจงยิบ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน

2021-06-09 11:55:03

รมว.คลังแจงยิบ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน

Advertisement

สภาฯถก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน รมว.คลังแจงยิบกู้เงินจำเป็น เพื่อให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติ ยันต่ำกว่ากรอบเพดานหนี้สากล

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 9 มิ.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 หรือพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยทันทีที่เริ่มประชุมนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้สอบถามต่อที่ประชุมถึงกรณีการเข้าชี้แจงพ.ร.ก.กู้เงิน วงเงิน 5 แสนล้านบาท ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะเข้าชี้แจงรายละเอียดและร่วมประชุมสภาฯ ด้วยหรือไม่ หรือจะไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ และกล่าวเพียงคำว่า “ขอโทษ” เท่านั้น

นายชวน ชี้แจงว่า การแจ้งชื่อเป็นบุคคลภายนอกที่จะขออนุญาตให้เข้าร่วมการประชุมเท่านั้น มีการแจ้งชื่อไว้ทั้งสิ้น 15 คน ส่วน ครม.ปกติไม่ต้องแจ้งชื่อเพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องมา ส่วนผู้ใดจะมาเป็นเรื่องของแต่ละฝ่าย

จากนั้นนายชวน ได้ให้นายยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ต่อที่ประชุม ซึ่งนายยุทธนา ได้เลื่อนลำดับแทนนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ลาออก ทำให้ขณะนี้มีส.ส. จำนวนทั้งสิ้น 484 คน และก่อนการเข้าสู่ระเบียบวาระ นายชวน ได้ขอความร่วมมือ ส.ส. ให้อภิปรายในกรอบและอย่ากล่าวถึงสถาบันเบื้องสูงโดยไม่จำเป็น รวมถึงยึดข้อบังคับการประชุม สวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่าง

จากนั้นนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ชี้แจงว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้แก้ไขสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 มาต่อเนื่องผ่านแหล่งเงินภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ แต่พบว่า ยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาการระบาดในระลอกใหม่ได้ อีกทั้งเงินทุนสำรองจ่ายที่เหลืออยู่ มีไม่เพียงพอ ขณะที่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี2564นั้น รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ปี2564 มีข้อ จำกัดและได้รับผลกระทบจากการระบาดจากเชื้อโควิด-19 หากจะรอแหล่งเงินจากงบประมาณปี2565 จะไม่ทันต่อการแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วนเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดเชื้อโควิด ซึ่งงบประมาณดังกล่าวไม่อาจดำเนินการให้ได้มาโดยวิธีงบประมาณปกติ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีจำเป็นเร่งด่วน มิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาลในการตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้

รมว.คลัง กล่าวว่า พ.ร.ก.กู้เงินฉบับนี้ มีสาระสำคัญคือ การให้อำนาจกระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศในวงเงินไม่เกิน 5แสนล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ ภายในวันที่ 30 ก.ย.2565 เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายใน 3แผนงานคือ 1.แผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการระบาดเชื้อโควิด-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน วงเงิน3หมื่นล้านบาท 2.แผนงานที่มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ วงเงิน 3แสนล้านบาท 3.แผนงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 วงเงิน 1.7แสนล้านบาท การตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ รัฐบาลตระหนักถึงวินัยการเงินการคลังของประเทศ ความคุ้มค่า ความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินกู้ มีการกำหนดกรอบการใช้เงินที่สอดคล้องกับกฎหมายวินัยการเงินการคลังอย่างรอบคอบรัดกุม รัฐบาลไทยและรัฐบาลทั่วโลกได้กู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้สิ้นปี2564 ระดับหนี้ภาครัฐบาลของโลกคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 92 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ2,760 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ตัวเลขหนี้ของไทย สิ้นเดือนเม.ย.2564 อยู่ที่ร้อยละ50.69 ต่อจีดีพี ยังต่ำกว่ากรอบเพดานหนี้สากล โดยระดับหนี้สาธารณะที่เหมาะสมของแต่ละประเทศ ไม่มีระดับตายตัว ขึ้นอยู่กับบริบทและปัจจัยที่แตกต่างกัน ดังนั้นการกู้เงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลมีเจตนาเพื่อให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติไปให้ได้ การก่อหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น กระทรวงการคลังจะทำด้วยความรอบคอบ อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง