อธิบดีกรมควบคุมโรคแจงแผนการกระจายวัคซีนโควิด- 19 อาจมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์การระบาด มิ.ย. ใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลักตามที่มีวัคซีนเข้ามา ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบการบริหารจัดการ ติดตามข้อมูลข่าวสารจาก สธ.อย่างใกล้ชิด
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีสื่อรายงานข่าวเกี่ยวกับการกระจายวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 โดยมีเนื้อหาให้เปิดเผยต่อสาธารณะด้วยข้อมูลที่ถูกต้องและมีเหตุผล รวมถึงการจัดสรรวัคซีนในแต่ละพื้นที่ นั้น กรมควบคุมโรค ขอชี้แจงว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนและแผนการกระจายวัคซีนในพื้นที่ต่างๆ ให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มมีการวางแผนและการนำแผนสู่การปฏิบัติ ทั้งในการแถลงข่าวประจำของ ศบค. การแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุข และในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม แผนการกระจายวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในประเทศไทย อาจมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) จะมีการประชุมหารือเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยคำนึงถึง 4 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้ 1.จำนวนวัคซีนที่มี 2.จำนวนประชากร 3.สถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน และ 4.กลุ่มเป้าหมาย เช่น ครู แรงงาน เป็นต้น ซึ่งการกระจายวัคซีนต้องคำนึงถึงสถานการณ์ของการระบาดเพื่อควบคุมโรค โดยอยู่ระหว่างการขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการในแต่ละชุด และปรับตามความเห็นและข้อแนะนำ ซึ่งล่าสุดประเด็นดังกล่าวได้เข้าสู่คณะที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งหากมีข้อแนะนำเพิ่มเติม ก็สามารถปรับเปลี่ยนแผนได้ตามความเหมาะสมตามสถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน และปริมาณวัคซีนที่ประเทศไทยได้รับ
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการฉีดวัคซีนในกลุ่มบุคคลทั่วไป ที่จะเริ่มในเดือน มิ.ย. 2564 นี้ จะใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลักตามที่มีวัคซีนเข้ามา ส่วนวัคซีนซิโนแวคเป็นส่วนเสริม ที่เริ่มมีการฉีดตั้งแต่เดือนมี.ค. 2564 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบการบริหารจัดการ และติดตามข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลักเพื่อลดความสับสนในเรื่องดังกล่าว และขอให้มั่นใจถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามา ซึ่งผ่านการตรวจสอบคุณภาพและประสิทธิภาพตามมาตรฐานทางสาธารณสุขก่อนนำมาฉีดให้กับประชาชน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและความรุนแรงของโรค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
วันที่ 24 พฤษภาคม 2564