อธิบดีกรมราชทัณฑ์แจงยิบโควิด-19 ระบาดในเรือนจำ ทัณฑสถาน เหตุเป็นพื้นที่เก่าคับแคบแออัด ยันสกัดกั้นเต็มความสามารถ แต่ไม่สามารถคุมปริมาณคนเข้า-ออกได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเป็นปลายทางของกระบวนการยุติธรรม ไม่สามารถปฏิเสธการรับตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ การนำตัวผู้ต้องขังออกศาลได้
เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่อาคารกรมราชทัณฑ์ จ.นนทบุรี นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วย นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ น.ส.โศรยา ฤทธิอร่าม ผอ.ทัณฑสถานหญิงกลาง ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) ในเรือนจำและทัณฑสถาน
นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ด้วยปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์มีผู้ต้องขัง 311,540 ราย ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนสูง เมื่อเทียบกับจำนวนเจ้าหน้าที่ประมาณ 13,000 คน และพื้นที่เรือนจำที่มีความเก่าคับแคบ จนทำให้มีความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างแออัด ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ ได้พยายามสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้ออย่างเต็มความสามารถ ด้วย 3 มาตรการ คือ 1.คนในห้ามออก 2.คนนอกห้ามเข้า และ 3.การกักตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ ผู้ต้องขังไปโรงพยาบาล และผู้ต้องขังออกศาล เป็นระยะเวลา 21 วัน และต้องมีการ SWAB เพื่อตรวจเชื้ออย่างน้อย 2 ครั้ง คือก่อนเข้าห้องกักโรค และก่อนพ้นระยะกักตัว จนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อทั้ง 2 ระลอกได้เป็นอย่างดี โดยมีสถิติผู้ติดเชื้อเพียงหลักหน่วย และหลักสิบคน ซึ่งสอดคล้องกับยอดผู้ติดเชื้อภายนอกเรือนจำ จนกระทั่งระลอกปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดกว้างขวาง พบการติดเชื้อในผู้ต้องขังจำนวนที่สูงขึ้นกว่าที่ผ่านมามาก
รายได้ฮวบๆ จากหมื่นเหลือแค่ร้อย ร้านกาแฟ "ใหม่ ดาวิกา" โดนกระทบหนัก
เผ็ดพริกยกสวน “กระแต-แม่น้ำหวาน” นุ่งบิกินีประชันความเซ็กซี่ แม่เด็ดดวงจนลูกต้องยอมแพ้
นายอายุตม์ กล่าวต่อว่า เรือนจำและทัณฑสถาน อาจดูเหมือนเป็นพื้นที่ปิด สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การดำเนินงานราชทัณฑ์ไม่สามารถควบคุมปริมาณบุคคลเข้า-ออกได้ 100 เปอร์เซ็น เนื่องจากเป็นปลายทางของกระบวนการยุติธรรม ที่ไม่สามารถปฏิเสธการรับตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ และการนำตัวผู้ต้องขังออกศาลได้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเองที่ต้องมีการหมุนเวียนการปฏิบัติงานอยู่ทุกวัน อีกทั้งสายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดในปัจจุบัน ยังมีระยะฟักตัวที่นานขึ้น และไม่แสดงอาการ ทำให้อาจเกิดการเล็ดลอดของเชื้อหลังจากผ่านพ้นระยะกักตัวได้โดยง่าย อย่างไรก็ตาม กรมราชทัณฑ์ จะดำเนินการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นมากขึ้น โดยใช้มาตรการ Bubble and Seal และตรวจหาเชื้อเชิงรุก โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงต้องเร่งการ SWAB ให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ เรือนจำและทัณฑสถานที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อ ให้เร่งคัดแยกผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มสีเขียว สีเหลือง และสีแดง ตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข โดยเร่งดำเนินการ คัดกรองให้เร็ว เอกซเรย์ให้เร็ว และคัดแยกให้เร็ว เพื่อการรักษาที่รวดเร็ว อันจะเป็นประโยชน์ในการรักษา ลดการแพร่เชื้อ และป้องกันการเสียชีวิตได้ในที่สุด ส่วนเรือนจำและทัณฑสถานอื่นๆ ทั่วประเทศ ให้เตรียมพร้อมรับมือ จัดพื้นที่เตรียมคัดแยกกลุ่มผู้ติดเชื้อ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังต่างๆ ออกจากกัน และเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในกรณีจำเป็น พร้อมกันนี้ ยังได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมราชทัณฑ์ (ศบค.รท.) ขึ้น เพื่อรับมือ แก้ไข และจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีการรวบรวมข้อมูลเพื่อรายงานยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้มีความชัดเจน และการจัดหายาเวชภัณฑ์ต่างๆ ให้เพียงพอ รวมถึงเป้าหมายสำคัญ คือการเร่งจัดหาวัคซีนแก่เจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังให้ครบทุกคน ทั้งนี้ อยากให้เชื่อมั่นในการดำเนินการของกรมราชทัณฑ์ ว่าเป็นการดำเนินการควบคุมเพื่อแก้ไข และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ตามหลักสิทธิมนุษยชน และจะรักษา ดูแลผู้ต้องขังทุกคนอย่างเต็มศักยภาพให้ดีที่สุด
ด้านนายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์และโฆษกศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมราชทัณฑ์ (ศบค.รท.) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากจะเป็นวิกฤติครั้งใหม่ที่ทั่วโลกต้องเผชิญแล้ว ในครั้งนี้ยังมีการแพร่ระบาดที่ค่อนข้างรวดเร็ว และตรวจพบเชื้อได้ลำบากกว่าที่ผ่านมา ในบางรายต้องตรวจเชื้อซ้ำถึง 3 ครั้งจึงจะพบเชื้อ แม้ว่าจะมีนโยบายให้ผู้ต้องขังทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา แต่ในทางปฏิบัติ เวลาอาบน้ำ รับประทานอาหาร ก็จำเป็นที่จะต้องถอดหน้ากากอนามัย อันเป็นจุดที่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ ซึ่งเมื่อมีการพบผู้ติดเชื้อในเรือนจำรายแรกๆ กรมราชทัณฑ์ได้เร่งดำเนินการสอบสวนโรค และเร่งการตรวจหาเชื้อให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นการค้นหาเชิงรุกอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีการเอกซเรย์ปอดในผู้ติดเชื้อทุกราย เพื่อแยกกลุ่มผู้ติดเชื้อตามลักษณะอาการ และเร่งการรักษาอย่างทันท่วงที สำหรับในประเด็นการรักษาดังกล่าว กรมราชทัณฑ์ ได้เตรียมความพร้อมในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเรือนจำ การจัดหายาต้านไวรัส และในส่วนของผู้ต้องขังที่ตรวจไม่พบเชื้อในครั้งแรก จะต้องทำการตรวจหาเชื้อซ้ำทุกๆ 7 วัน จนกว่าสถานการณ์ทุกอย่างจะปกติ โดยต่อจากนี้ จะมีการตรวจค้นหาเชิงรุกต่อเนื่อง และอาจจะมียอดผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้น แต่อยากให้มั่นใจว่าเป็นไปเพื่อให้ผู้ต้องขังทุกคนได้รับการรักษาที่รวดเร็วจนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในที่สุด
ด้าน น.ส.โศรยา ฤทธิอร่าม ผอ.ทัณฑสถานหญิงกลาง กล่าวว่า ทัณฑสถานหญิงกลาง ได้แบ่งการควบคุมออกเป็น 2 แดน คือ 1. แดนแรกรับ มีผู้ต้องขังประมาณ 1,500 ราย ซึ่งมีการดำเนินการตรวจคัดกรองผู้ต้องขังทั้งแดนไปแล้ว จำนวน 2 ครั้ง คือในวันที่ 8 พ.ค. และ 15 พ.ค. และ 2. แดนเด็ดขาด เป็นแดนที่มีจำนวนผู้ต้องขังประมาณ 3,000 คน มีการตรวจคัดกรองและพบผู้ติดเชื้อจำนวน 1,039 ราย ตามที่กรมราชทัณฑ์ได้ชี้แจงไปแล้ว โดยผู้ต้องขังที่ติดเชื้อ ทางทัณฑสถานหญิงกลางได้ดำเนินการส่งตัวไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนาม ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เรียบร้อยแล้ว และปัจจุบัน ผู้ต้องขังที่ไม่พบการติดเชื้อ จำนวน 3,400 ราย ได้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ภายใต้มาตรการ Bubble and Seal เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ และมีการตรวจคัดกรองเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังทุกๆ 7 วัน จนกว่าจะไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม รวมทั้งได้ปฏิบัติตามมาตรการของกรมควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ซึ่งในปัจจุบัน สถานการณ์การระบาดในทัณฑสถานได้คลี่คลายลงแล้ว