อธิบดีกรมปศุสัตว์ประชุมออนไลน์สั่งการปศุสัตว์จังหวัดคุมเข้ม "โรคลัมปี สกิน" ทั่วไทย
ขอโทษจากใจ "พลอย เฌอมาลย์" ยอมรับการ์ดตก ไม่ได้กักตัว 14 วัน
รวยล้นระดับเศรษฐี "บี้ สุกฤษฎิ์" ทำฮือฮา ปรากฏชื่อเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นช่องดัง !!
ชมก็เยอะตำหนิก็แยะ "เจนนี่" ปล่อยคลิป "ลิลลี่" เต้นคัฟเวอร์ "ลิซ่า" ชาวเน็ตรุมวิจารณ์
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ ในพื้นที่ 19 จังหวัดของประเทศไทย นั้น เพื่อให้การควบคุม ป้องกัน และจำกัดโรค เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการประชุมออนไลน์ ผู้บริหารกรมปศุสัตว์ ประกอบไปด้วย อธิบดี รองอธิบดี ผอ.กอง ผอ.สำนัก ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ปศุสัตว์เขต ปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วม ซึ่งได้สั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ ยกระดับการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคลัมปี สกิน กำชับให้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคลัมปี สกิน อย่างเข้มงวด ตามมาตรการที่กรมปศุสัตว์ได้มีหนังสือสั่งการไป โดยให้เร่งประชาสัมพันธ์เกษตรกร สร้างความตระหนักรู้ เพื่อเร่งค้นหาโรค “รู้โรคเร็ว ควบคุมเร็ว สงบเร็ว” ทำการควบคุมการเคลื่อนย้ายโค-กระบือ อย่างเข้มงวด แนะเกษตรกรควบคุมแมลงพาหะ ในการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งเป็นแมลงประเภทดูดเลือด ได้แก่ ยุง แมลงวัน เหลือบ และเห็บ โดยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์แมลง ใช้ยาฆ่าแมลง และกางมุ้งกันแมลง หากเกษตรกรพบโค-กระบือป่วย หรือสงสัยว่าป่วย เบื้องต้นให้ทำการแยกออกจากโค-กระบือ ร่วมฝูง เพื่อทำการรักษา นอกจากนี้กรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างเร่งรัดการนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน จากต่างประเทศ เพื่อใช้ในการฉีดสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่โค-กระบือ ของเกษตรกร โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุม ป้องกันโรค พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกรโดยทันทีเมื่อได้รับแจ้งเหตุ พร้อมทั้งได้สั่งการปศุสัตว์เขตทุกเขต ให้ทำหน้าที่ติดตาม กำกับดูแล พร้อมช่วยเหลือ แนะนำ สนับสนุนการปฏิบัติงานของทุกจังหวัดในเขตพื้นที่รับผิดชอบอีกด้วย หากจังหวัดใดที่มีการเลี้ยงโคนม ให้ดำเนินการด้วยความเข้มแข็ง จริงจังและต่อเนื่อง เป็นกรณีพิเศษ
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวอีกว่า โรคลัมปี สกิน เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส จะเกิดเฉพาะในโค-กระบือ ไม่ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยสัตว์ที่ป่วยจะมีอาการที่สามารถสังเกตได้คือ พบตุ่มเนื้อบนผิวหนัง และเยื่อเมือกทั่วร่างกาย ซึ่งต่อมาจะตกสะเก็ดและเป็นแผลหลุม สัตว์อาจมีไข้และหายใจลำบากร่วมด้วย ขอให้พี่น้องเกษตรกรหมั่นดูแลสุขภาพของโค-กระบือ ให้มีสุขภาพแข็งแรง หากพบสัตว์มีอาการผิดปกติ สงสัยว่าป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัด หรือปศุสัตว์อำเภอในท้องที่ หรือโทรศัพท์สายด่วน 06 3225 6888 หรือทางแอพพลิเคชั่น DLD4.0 เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที