คณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ.ชี้คำวินิจฉัยศาล รธน.คดี "ธรรมนัส" เป็นเรื่องยากที่จะยอมรับ
เช็กสิทธิ 5 มาตรการหลัก 9 โครงการช่วยเหลือเยียวยาโควิด-19
แจกคนละ 2 พัน "เราชนะ-ม33เรารักกัน"
ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยชี้ว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ก่อนสมัครเลือกตั้ง ส.ส. แต่ไม่ใช่คำพิพากษาศาลไทย จึงไม่เป็นลักษณะต้องห้าม ทำให้สมาชิกภาพ ส.ส. และความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลง ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ผู้สื่อข่าวภายงานว่า รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Munin Pongsapan ระบุว่า ความเห็นแตกต่างในการตีความคำว่า “คำพิพากษาอันถึงที่สุด” มาตรา 98 (10) ของรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่การให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญดังที่ปรากฏในเอกสารข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับ ศาลอ้างอำนาจอธิปไตยทางศาลเป็นเหตุผลหลักในการปฏิเสธคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลต่างประเทศ ทั้งๆ คนทั่วไปต่างก็ทราบว่าประเทศไทยเป็นรัฐอธิปไตยที่มีอิสรภาพทางการศาลที่สมบูรณ์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ในขณะที่นักกฎหมายต่างก็ทราบดีว่ารัฐอธิปไตยสามารถยอมรับและบังคับกฎหมายต่างประเทศและคำพิพากษาต่างประเทศได้โดยไม่กระทบกระเทือนต่ออำนาจอธิไตยของชาติ พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 ที่ยอมให้มีการพิสูจน์เพื่อบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศและแนวคำพิพากษาของศาลยุติธรรมที่ยอมให้มีการพิสูจน์เพื่อบังคับคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลต่างประเทศเป็นเครื่องยืนยันข้อความจริงนี้ได้เป็นอย่างดี
การใช้เหตุผลในเชิงชาตินิยมที่มีน้ำหนักเบาบางเพื่อปิดกั้นคำพิพากษาศาลต่างประเทศ เป็นการละทิ้งโอกาสอย่างน่าเสียดายในการหักล้างข้อสงสัยของสาธารณชนที่มีต่อเจตนารมณ์ที่แท้จริงของบทบัญญัติว่าคนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรควรมีคุณสมบัติแบบใด เป็นข้อสงสัยที่ไม่ต้องใช้เหตุผลทางกฎหมายที่ซับซ้อน แต่ใช้เพียงแค่เหตุผลธรรมดาสามัญ (common sense) ก็สามารถตอบได้ ยิ่งเมื่อได้อ่านความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 4) ซึ่งเป็นกลุ่มนักกฎหมายชั้นนำของประเทศที่ได้วินิจฉัยในประเด็นปัญหาเดียวกันเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ว่า “ถ้าต้องห้ามเฉพาะการกระทำผิดในประเทศ ไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดในต่างประเทศ ก็จะเกิดการลักลั่นไม่เป็นธรรม และขัดกับเหตุผล” ยิ่งทำให้ความเคลือบแคลงสงสัยที่มีต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก ในขณะที่ความเชื่อมั่นศรัทธาของสังคมที่มีต่อระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยยิ่งตกต่ำลงไปเรื่อยๆ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ขอบคุณเฟซบุ๊ก Munin Pongsapan