วัคซีนป้องกันโควิด-19 พัฒนากันอย่างไร

2021-05-01 11:58:58

วัคซีนป้องกันโควิด-19 พัฒนากันอย่างไร

Advertisement

วัคซีนป้องกันโควิด-19 พัฒนากันอย่างไร

วัคซีนป้องกันการติดเชื้อติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ วัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้นคาดว่าจะเป็นการทำให้การระบาดใหญ่สงบลง และมีบริษัทยาผู้ผลิตวัคซีนจากหลายแห่งทั่วโลก ขณะนี้มีวัคซีนมากกว่า 40 ชนิดที่อยู่ในระหว่างการทดลองในมนุษย์ และมากกว่า 150 ชนิดที่อยู่ในขั้นทดลองในห้องปฏิบัติการหรือทดลองในสัตว์ โดยสามารถติดตามความคืบหน้าได้จากเว็บไซด์ขององค์การอนามัยโลก จำนวนเข็มของการรับวัคซีนจะขึ้นอยู่กับที่วัคซีนที่ได้รับ วัคซีนที่ผลิตในขณะนี้บางชนิดจะให้ฉีดเพียงครั้งเดียว แต่ส่วนใหญ่จะให้ฉีด 2 ครั้ง โดยครั้งที่สองจะกำหนดไว้ประมาณ 3-4 สัปดาห์หลังจากได้รับวัคซีนครั้งแรก การฉีดวัคซีนจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายสูงเพียงพอที่จะทำให้ไม่เกิดโรค หรือถ้าเกิดโรคก็จะไม่รุนแรงเท่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน

โดยทั่วไปการพัฒนาวัคซีนอาจใช้เวลาหลายปีอาจถึงหลายสิบปี เนื่องด้วยความรุนแรงของสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโควิด-19 นั้น มีการอนุญาตให้มีการพัฒนาอย่างเร่งด่วน เราอาจได้ยินข่าวว่าวัคซีนแต่ละชนิดนั้นคืบหน้าไปถึงระยะใดแล้ว และมีวัคซีนใหม่ ๆ ที่ได้รับการยอมรับให้ใช้เพิ่มมากขึ้น มาทำความรู้จักการพัฒนาในแต่ระยะกันค่ะ

ระยะพรีคลินิก ทดสอบในห้องปฏิบัติการและสัตว์ทดลอง เช่น หนู โดยจะผ่านระยะนี้ไปได้หากมีผลการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันดี และพบว่าปลอดภัยกับสัตว์ทดลอง

ระยะคลินิกระดับ 1 ระยะนึ้มักใช้คนที่สุขภาพดีอายุ 18-55 ปี น้อยกว่าร้อยคนทดสอบความปลอดภัยของปริมาณวัคซีนในระดับต่าง ๆ โดยอาสาสมัครคนแรก ๆ จะได้ปริมาณวัคซีนต่ำก่อน เมื่อพบว่าปลอดภัย อาสาสมัครคนหลัง ๆ ก็จะได้วัคซีนปริมาณมากขึ้น จนทราบปริมาณวัคซีนที่เหมาะสม โดยมีการติดตามอาสาสมัครอย่างใกล้ชิดผ่านคณะกรรมการกำกับดูแล

ระยะคลินิกระดับ 2 เป็นระยะที่ใช้อาสาสมัครมากขึ้นหลายร้อยคน เพื่อดูความปลอดภัยและระดับภูมิคุ้มกันว่าถึงหรือไม่

ระยะคลินิกระดับ 3 เป็นระยะที่ทดสอบว่าวัคซีนสามารถใช้ป้องกันโรคได้หรือไม่ โดยมีการทดลองแบบอำพราง (blinded study) หมายถึง อาสาสมัครบางส่วนจะได้รับวัคซีนจริง บางส่วนได้รับวัคซีนหลอกหรือวัคซีนโรคอื่น หลังจากติดตามอาสาสมัครไประยะหนึ่ง หากมีอาการผิดปกติจะนำมาทำการทดสอบว่าเป็นโรคหรือไม่ เพื่อที่จะดูประสิทธิภาพของวัคซีนว่าสามารถป้องกันโรคได้มากน้อยเท่าใดในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนจริงเทียบกับอีกกลุ่ม

สำหรับการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 นั้น มีการรวมระยะคลินิกทั้งสาม ให้ต่อเนื่องโดยไม่ต้องทำเอกสารยุ่งยากซับซ้อนระหว่างรอแต่ละขั้น และยังมีการใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนของโคโรนาไวรัสตัวอื่นที่เคยมีการระบาดก่อนหน้านี้คือ เมอร์สโควี (MERS-CoV) และ ซาร์โควีหนึ่ง (SARS-CoV-1) ทำให้พัฒนาได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ

ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล