"ประกันสังคม"พร้อมจ่ายว่างงานเหตุสุดวิสัย

2021-04-28 15:45:45

"ประกันสังคม"พร้อมจ่ายว่างงานเหตุสุดวิสัย

Advertisement

"ประกันสังคม"พร้อมจ่ายสิทธิประโยชน์ว่างงานเหตุสุดวิสัย ให้ผู้ประกันตนหลัง กทม.ประกาศปิดสถานที่และกิจการ 35 ประเภทชั่วคราวป้องกันโควิดระบาด

หนุ่มป่วยโควิดช่วย ด.ช. 8 ขวบโดนผู้ใหญ่ไล่ออกจากห้องร้องไห้ไม่มีที่นอน

เปิดใจหมอใส่ชุด PPE เป็นลมกลางแดดขณะเคลื่อนย้ายผู้ป่วย

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครได้ประกาศสั่งปิดสถานที่ และสถานประกอบกิจการเป็นการชั่วคราว จำนวน 35 ประเภท ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. – วันที่ 9 พ.ค. 64 เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการประกอบกิจการ และลูกจ้าง ผู้ประกันตน ไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งในการนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน มีความห่วงใยพร้อมสั่งการให้ สำนักงานประกันสังคมเร่งให้ความช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกันตนพร้อมให้บริการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยแก่ผู้ประกันตน ตามประกาศ “กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563” ให้ได้รับสิทธิเต็มที่

นายทศพลฯ กล่าวถึง คุณสมบัติผู้ประกันตนมาตรา 33 ในการขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจาก เหตุสุดวิสัย ต้องส่งเงินสมทบครบ 6 เดือนใน 15 เดือน จึงจะเกิดสิทธิรับเงินกรณีว่างงาน แต่ไม่ได้ทำงานหรือนายจ้าง ให้หยุดงานเนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือไม่ได้ทำงานเนื่องจากนายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ และลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ให้ลูกจ้างดังกล่าวมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับ ตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรคหรือมีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าว แล้วแต่กรณีแต่รวมกัน ไม่เกิน 90 วัน

เลขาธิการประกันสังคม กล่าวอีกว่า ช่องทางการขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุโควิด-19 ในครั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม กำหนดให้นายจ้าง และลูกจ้าง ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบดำเนินการขอรับประโยชน์ทดแทน ตามช่องทาง ดังนี้

1.ผู้ประกันตนมีหน้าที่ กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7 สามารถ download แบบได้ที่ www.sso.go.th) แล้วนำส่งให้นายจ้าง ขอเน้นย้ำเรื่องเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ และเลขบัญชีธนาคาร ที่ถูกต้อง

2.นายจ้างมีหน้าที่ ดำเนินการยื่นขอรับสิทธิว่างงานในระบบ e-Service ดังนี้

2.1 บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service บน www.sso.go.th โดยต้องบันทึกข้อมูลลูกจ้าง ตามแบบ สปส. 2-01/7 และหนังสือรับรองการหยุดงานกรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว

2.2 รวบรวมแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7) ของลูกจ้าง ที่ได้บันทึกแล้วในระบบ e-Service บน www.sso.go.th นำส่งมายังสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ทางไปรษณีย์ ลงทะเบียน ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service

นายทศพลกล่าวว่า ในการขอรับสิทธิประโยชน์ว่างงานจากเหตุโควิด-19 นายจ้าง และลูกจ้าง ผู้ประกันตนต้องดำเนินการตาม ข้อ 1 และ ข้อ 2 และขอย้ำว่าลูกจ้างผู้ประกันตนไม่ต้องเดินทางมายังสำนักงานประกันสังคม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือผ่านโทรศัพท์สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้สำนักงานประกันสังคมเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบภาวะวิกฤต โควิด-19 ทุกด้าน เพื่อหาแนวทางกำหนดมาตรการแก้ไขให้สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาล เพื่อเร่งเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนนายจ้าง และผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคม ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ให้มากที่สุด