"เอนก" สั่งคณบดี รร.แพทย์คัดนิสิตช่วยรับสายด่วนแก้ปัญหาคนไม่พอ

2021-04-23 14:55:09

"เอนก" สั่งคณบดี รร.แพทย์คัดนิสิตช่วยรับสายด่วนแก้ปัญหาคนไม่พอ

Advertisement

"เอนก" สั่งการคณบดี รร.แพทย์คัดนิสิตแพทย์ช่วยรับสายด่วน 1668 – 1669 แก้ปัญหาคนไม่พอ พร้อมระดมนิสิตนักศึกษาแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุข ช่วยรัฐบาลฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 5 แสนคนเริ่ม พ.ค.นี้ ขณะที่ ปลัด อว.เผย รพ.สนามรับผู้ป่วยแล้วกว่า 8 พันเตียง

ผวจ.สมุทรสาครให้กำลังใจ "อาต้อย-น้าค่อม"

“บอล” เดือดเจอคนเหยียบหัวใจ หลังวอนทีมแพทย์ช่วย “น้าค่อม” ลั่นอย่ามาเล่นกับความรู้สึก !

สุดสลด 3 อาม่าป่วยโควิด หาเตียงแอดมิทไม่ได้เสียชีวิตคาบ้าน 1 ราย

เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนามของ อว.ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.) ว่า ขณะนี้ ได้สั่งการให้คณบดีโรงเรียนแพทย์ของ อว. ช่วยคัดนิสิตนักเรียนแพทย์ที่มีความพร้อมมาช่วยรับโทรศัพท์ เพื่อแก้ปัญหาที่ประชาชนโทร.เข้าหมายเลข 1668 หรือ 1669 ที่ไม่มีคนมากพอจะรับสายแล้วเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะการทำงานอะไรก็ตาม มักมีปัญหา แต่ก็ต้องแก้ไขกันไป ในยามรบทัพจับศึก บางครั้งฝ่ายสนับสนุนนั้นก็สำคัญมาก ส่วนในเรื่องของวัคซีนที่หลายฝ่ายกังวลนั้น ขอเรียนให้ทราบว่าประเทศไทยมีวัคซีนพอ และ อว. ก็พร้อมในการเตรียมบุคลากรไปช่วยฉีดวัคซีนด้วย หากรัฐบาลจะฉีดให้ได้วันละ 5 แสนคน ก็จำเป็นที่จะต้องมีบุคลากรสนับสนุนที่เพียงพอ ซึ่ง อว.มีอาสาสมัครนิสิตนักศึกษาที่เรียนแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุข มาช่วยฉีดก็ได้ โดยจะเริ่มในเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งจะฉีดอย่างเร่งรีบ จริงจัง

รมว.อว.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อว.ได้เตรียมใช้กล้องความเร็วสูงทดสอบคุณสมบัติการป้องกันละอองไอจามซึมผ่านหน้ากากอนามัย การผลิตชุด PPE ใช้เองในประเทศ การพัฒนาตู้ความดันบวก-ความดันลบเพื่อใช้คัดกรองและป้องกันเชื้อจากผู้ป่วย และการพัฒนาชุดทดสอบไวรัสที่ย่อส่วนห้องแล็บ PCR ไว้บนชิปขนาดเล็กเพื่อสู้กับโควิด 19 เพราะขณะนี้เราไม่ใช่แค่รบกับโควิด - 19 หากแต่ต้องดูแลขวัญและกำลังใจประชาชนเองด้วย ซึ่งการพูดคุยกันในสื่อสังคมทุกวันนี้ บ่อยครั้งจะพากันแตกตื่น และ ตระหนก ดังนั้นจำเป็นต้องมีการสื่อแก้ไขข้อข้องใจให้กับสังคมให้มีความเข้าใจในปัญหา และมองเห็นลู่ทางหรือแนวทางในการแก้ไขด้วย

ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว.กล่าวว่า สำหรับโรงพยาบาลสนามของ อว. ขณะนี้ ได้จัดแล้วทั้งหมด 41 แห่ง กระจายในทุกภาคทั่วประเทศ มีเตียงรวมกันกว่า 12,000 เตียง สามารถเปิดรับผู้ป่วย และมีบุคลากรดูแลพร้อมแล้วกว่า 8,000 เตียง และปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รับเข้ามาดูแลในโรงพยาบาลสนามแล้วประมาณ 1,600 เตียง และ หากผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลสนามมีอาการหนักขึ้นจนกระทั่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ของ อว. ซึ่งมี 22 แห่งทั่วประเทศก็มีความพร้อมในการดูแลเช่นกัน ผู้ป่วยสามารถวางใจได้ว่าเมื่อมาอยู่โรงพยาบาลสนามแล้วหากมีความจำเป็นจะต้องเลื่อนขึ้นไปอยู่โรงพยาบาลหลักเพื่อรักษาอาการที่หนัก เรามีความพร้อมทั้งจำนวนบุคลากร เตียง รวมไปถึงเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆอย่างเพียงพอ