"อกหัก" ทำตามนี้ ถ้าไม่อยาก Move on เป็นวงกลม

2021-04-10 06:00:46

"อกหัก" ทำตามนี้ ถ้าไม่อยาก Move on เป็นวงกลม

Advertisement

"อกหัก" ทำตามนี้ ถ้าไม่อยาก Move on เป็นวงกลม ยอมรับและให้เกียรติความเจ็บปวด (Honor your pain)

ความเจ็บปวดจากการอกหัก เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่มีความหมายในชีวิต ซึ่งสำหรับบางคนแล้วอาจเป็นกระบวนการจัดการกับการสูญเสียครั้งใหญ่ที่สั่งสมมาในอดีต การยอมรับและให้เกียรติประสบการณ์นี้ให้ปรากฏ เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้และเติบโตได้ ถ้าเกิดความคิด เช่น ไม่อยากเจ็บปวด ทำไมยังไม่หาย หรือเกิดจมอยู่กับความเจ็บปวดนั้น ก็ให้อนุญาตให้ความคิดเหล่านั้นปรากฏ แต่เราสามารถมองมันต่างไปได้ ลองจินตนาการภาพดอกบัวที่งอกมาจากโคลนตม ก็คือตัวเราที่ในที่สุดจะสามารถเติบโตงอกงามออกมาจากความทุกข์ได้

สำรวจความคาดหวัง (Explore hope & expectation)

บ่อยครั้ง ความทุกข์และบีบคั้นในใจ อาจมาจากความหวัง ที่เรายังไม่อยากปล่อยวาง เช่น อยากให้เค้ากลับคืนมา อยากกลับไปแก้ไขอดีต ไม่อยากอยู่คนเดียว ฯลฯ เราสามารถอนุญาตให้ความคาดหวังปรากฏ โดยไม่จำเป็นต้องตัดสินหรือตัดพ้อต่อว่าความคิดเหล่านั้น และลองพิจารณาดูว่า ความคาดหวังใด ที่เป็นประโยชน์และเราสามารถดูแลจัดการได้ด้วยตนเอง และปล่อยวางความคาดหวังที่ยากจะเป็นจริง หรือต้องไปควบคุมเปลี่ยนแปลงผู้อื่น

ถอนยาล้างพิษ (Detoxification)

การอกหักเปรียบเสมือนการถอนยาจากการเสพติด ดังนั้นวิธีการที่จะเยียวยารักษาคือ ไม่กลับไปใช้ยาอีก หมายถึง ในช่วงแรกนั้น ไม่ควรหมกมุ่น คิด หรือติดต่อคนที่เป็นสาเหตุของการอกหัก อย่างไรก็ตามความคิดเป็นสิ่งที่ห้ามยาก ดังนั้นควรตัดสินใจเลือกหรือสร้างอุบายเพื่อช่วยให้ตัวเราไม่ตกอยู่ที่นั่งลำบาก เช่น ตัดการติดต่อ ทางโทรศัพท์ หรือโซเชียลมีเดียถ้าทำได้ การทำสิ่งนี้ไม่ได้แปลว่าจะไม่สามารถกลับมาเป็นเพื่อนกับคนรักเก่าได้อีกในอนาคต หากแต่เป็นเพียงการดูแลตนเองแบบฉับพลันในช่วงต้นของกระบวนการเยียวยาตนเองให้คลี่คลายได้เร็วขึ้น

มองเหตุการณ์ตามความเป็นจริง (Be realistic)

เลือกมองสถานการณ์จากทั้งสองด้าน ทั้งด้านที่อาจมองคนรักเก่าว่าเป็นคนในอุดมคติ คิดถึงช่วงเวลาดี ๆ รวมถึงด้านที่ทำให้ความสัมพันธ์ไม่สามารถไปต่อได้ ไม่ว่าคนคนนั้นจะมีข้อดีแค่ไหน การที่เขาตัดสินใจไม่เลือกเรานั้น ถือเป็นข้อเสียใหญ่หลวงที่สุด ที่ทำให้เราไม่ควรเลือกที่จะมีความสัมพันธ์ต่อไป

เมตตาตนเอง (Self-compassion)

หากเราเกิดความคิดโทษตัวเอง มองว่าตัวเองไม่ดีพอ เกิดความเศร้าหรือความกลัวกังวลในอนาคต ให้ลองปฏิบัติกับตัวเองเหมือนเพื่อนสนิทที่สุดจะทำให้เรา รับฟังตัวเอง ปลอบโยน และให้กำลังใจตนเองเหมือนที่เราจะทำให้เพื่อนสนิทที่สุดคนหนึ่งเช่นเดียวกัน  ให้เวลากับตัวเองเพื่อดูแลจิตใจ พัฒนาตนเอง รวมถึงการเตรียมพร้อมและเปิดใจกับความสัมพันธ์ในอนาคต

ฟื้นฟูความสัมพันธ์ (Cultivate meaningful relationship)

ความสัมพันธ์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต เมื่อสูญเสียความสัมพันธ์หลักไป อาจทำให้รู้สึกสูญเสียตัวตนบางส่วนที่สำคัญไปด้วย ดังนั้นจึงเป็นช่วงสำคัญที่เราควรฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่มีความหมายไม่ว่าจะเป็นกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงที่มีอยู่แล้ว  เราอาจแบ่งปันเรื่อง และขอความช่วยเหลือจากเพื่อนที่เราไว้ใจ ให้เวลาความสัมพันธ์ที่มีอยู่ให้ค่อย ๆ พัฒนาขึ้น ยอบรับและขอบคุณความสัมพันธ์ดี ๆ ที่มีโดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับอดีต

อ.พญ.วินิทรา แก้วพิลา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล