"หมอ" เตือน ปชช.เดินทางกลับบ้านช่วงสงกรานต์ ระวังเป็นพาหะนำ "เชื้อโควิด" ติดญาติผู้ใหญ่
ศบค.เผยยอดโควิดพุ่งพรวด 334 ราย
"ศักดิ์สยาม"ยอมรับติดเชื้อโควิด-19
จนท.พบแล้ว"พระสงฆ์"ติดถ้าน้ำท่วมสูง
เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า โควิด-19 กับการระบาดที่ยังเป็นปัญหาในประเทศไทย การระบาดโควิด 19 มีผู้ป่วยจำนวนมากในกรุงเทพฯ โดยมีต้นตอจากสถานบันเทิง ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอายุไม่มาก อาการจึงไม่มีรุนแรง หรือไม่มีอาการเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ยากต่อการควบคุม เพราะผู้ติดเชื้อจะไม่รู้ว่าตัวเองมีเชื้อ จึงสามารถแพร่กระจายโดยไม่รู้ตัว เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จำนวนยอดผู้ป่วยในเดือน เมษายนนี้ มากกว่ากันมาก หรือเปรียบเทียบง่ายๆ ปีที่แล้วเป็นหลักสิบ แต่ปีนี้เป็นหลักร้อยต่อวัน ปีที่แล้วมีมาตรการต่างๆ มากมาย เลื่อนวันหยุดสงกรานต์ งดกิจกรรมต่างๆ ห้ามขายเหล้าขายเบียร์ มีแม้กระทั่งการบ้านในเวลากลางคืน และมาตรการส่งเสริมต่างๆ ในการป้องกัน ทุกคนเคร่งครัด เมื่อผ่อนปรนมีการ scan ชัยชนะ ในปีนี้ผู้ไปเที่ยวผับบาร์ได้มีการสแกนชัยชนะหรือไม่ ความเข้มงวดต่างๆ ลดลงอย่างมาก จึงเป็นต้นก่อให้เกิดการระบาดได้มากกว่าปีที่แล้ว สมมุติว่าการระบาดครั้งนี้มากกว่าปีที่แล้ว 10 เท่า และมาตรการต่างๆ ของเราน้อยกว่าปีที่แล้ว 10 เท่า ก็เท่ากับว่าความรุนแรงของการระบาดในปีนี้เพิ่มมากขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว 100 เท่า
เทศกาลวันหยุดยาวจะเริ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า ทำให้อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ผู้ที่ไม่มีอาการหรือมีการน้อย เมื่อเดินทางไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ต่างจังหวัด รวมทั้งการเฉลิมฉลอง จะเป็นแหล่งแพร่กระจายโรคได้เป็นอย่างดี และครั้งนี้ผลกระทบจะอยู่ในญาติผู้ใหญ่ ที่มีอายุมาก มีโอกาสเกิดโรคหรือความรุนแรงก็จะมากตามอายุ อยากให้ทุกคนมีความเคร่งครัดระเบียบวินัย การไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ในช่วงเทศกาลถือเป็นเรื่องดี แต่การนำโรคไปให้ท่านไม่ดีนะ การเดินทางครั้งนี้จำเป็นจะต้องมีกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเรื่องวิถีใหม่ การกำหนดระยะห่าง หลีกเลี่ยงการสัมผัส และการปฏิบัติตนเพื่อสุขอนามัย ซึ่งมีความจำเป็นสูงสุด สังคมยุคใหม่ถ้าใช้การเคารพ หรือเยี่ยม แบบออนไลน์ และงดการเดินทางโดยไม่จำเป็น จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดแพร่กระจายของโรคในขณะนี้ ปัญหาทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะสวนทางกับการควบคุมการระบาดของโรค จะต้องอยู่ในภาวะสมดุล ถ้ามีผู้ป่วยติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ก็ไม่สามารถที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจทางการท่องเที่ยวได้ เพราะคงไม่มีใครอยากเดินทางมาในแหล่งระบาดของโรค