"พิชัย"ซัดนายกฯพูดกลับไปกลับมาทำประชาชนสับสน จี้ยอมรับความจริง เศรษฐกิจไทยส่ออาการเสี่ยงทรุดต่อเนื่อง
ฟาดซ้ำอีกรอบ !! "เบล" ลูกสาวบรรยิน ซัด "ดิว อริสรา" อีกระลอก
สวยแน่นๆ เปิดวาร์ปเผ็ชๆ "เบล บุษญา" เพื่อนเคยสนิท "ดิว อริสรา"
เมื่อวันที่ 5 เม.ย. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ประชาชนจำนวนมากรู้สึกสับสนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว. กลาโหม และ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พูดกลับไปกลับมา วันหนึ่งยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงสูงจากเอกสารรายงานของกระทรวงการคลัง แต่อีกวันกลับออกมายืนยันว่าการคลังไทยยังแข็งแกร่ง ทำให้ประชาชนสงสัยว่าสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างไรกันแน่ ดังนั้นจึงอยากให้ข้อมูลที่แท้จริงเพื่อประชาชนจะได้เตรียมตัวและปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต ความจริงที่น่ากังวลคือ เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงสูงจริง รายได้ต่ำ ใช้จ่ายสูง ต้องกู้เงินอุดงบประมาณไปอีก 5 ปี ตามที่กระทรวงการคลังรายงาน และพลเอกประยุทธ์ได้ยอมรับเอง ทั้งนี้เกิดมาจากหลายสาเหตุและยังมีสัญญาณเศรษฐกิจที่ส่ออาการเสื่อมทรุดต่อเนื่อง โดยสาเหตุหลักของการเสื่อมทรุดมาจากความล้มเหลวของการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ตั้งแต่มีการปฏิวัติรัฐประหาร ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจไทยพัฒนาตามศักยภาพได้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำเตี้ยมาตลอด ดังนั้นเมื่อปัญหาการขยายตัวต่ำมาหลายปี ปัญหาที่ตามมาคือ รายได้ของประชาชนลดลง บริษัทห้างร้านขาดทุนและต้องปิดตัวเองเป็นจำนวนมาก และบริษัทห้างร้านที่ยังเปิดอยู่ก็มีรายได้ลดลงและกำไรหายไปมาก ทำให้การเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้ามาทุกปี อีกทั้งการลงทุนหดหายไปจากความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลเผด็จการ และการส่งออกแทบไม่ขยายตัวเลยจากการลงทุนที่ลดลงนี้ เศรษฐกิจไทยอาศัยการท่องเที่ยวในการขยายตัวมาตลอด แต่พอมาเจอวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด รายได้จากการท่องเที่ยวจึงได้หายไป ทำให้เห็นปัญหาอิ่นๆตามมาอย่างชัดเจน ทั้งนี้ หลักฐานการที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ยอมรับความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจตลอดเวลาที่ผ่านมาเอง โดยการปลด นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และ ทีมออกหมด เพื่อปัดความรับผิดชอบให้พ้นตัว ทั้งที่ปัญหาเศรษฐกิจส่วนใหญ่เกิดมาจากความผิดพลาดของพลเอกประยุทธ์เองพอๆกับความผิดพลาดของทีมนายสมคิด และการปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจใหม่ กลับยิ่งบริหารได้แย่กว่าเดิม ยิ่งตอกย้ำการขาดความรู้ความสามารถของ พล.อ.ประยุทธ์
นายพิชัย กล่าวต่อว่า สัญญาณเศรษฐกิจที่ไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอมา ซึ่งเป็นอาการที่สะท้อนปัญหาที่สะสมมาและจะแย่ลงไปอีกเรื่อยๆ เหมือนที่ผมได้เคยเตือนไว้ว่าเป็นสภาวะตามทฤษฏีกบต้มที่ประเทศจะค่อยๆเสื่อมถอยลงแบบไม่รู้ตัว แต่พอรู้สึกกันอีกทีก็หนักกันแล้ว ซึ่งสังเกตได้ชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่เขามีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมั่นคง เขาจะสามารถฝ่าฟันวิกฤตการณ์ไวรัสโควิดได้และยังสามารถขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมอย่างรวดเร็ว บางประเทศที่เก่งพอ เศรษฐกิจประเทศเขาไม่ได้ติดลบในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด เพียงแต่ขยายตัวน้อยลง และยังจะสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างก้าวกระโดดในปีนี้ เช่น ประเทศเวียดนาม (ปีที่แล้วโต 2.91 เปอร์เซ็นต์ ปีนี้จะโต 6-7 เปอร์เซ็นต์ ) และประเทศจีน (ปีที่แล้วโต 2.3 เปอร์เซ็นต์ ปีนี่จะโต 6-8 เปอร์เซ็นต์ ) ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่สามารถฟื้นได้ครึ่งหนึ่งของที่ติดลบลงมาเมื่อปีที่แล้วเลย ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่เห็นได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ จากการเก็บภาษีได้ต่ำกว่าคาดประมาณมาก ล่าสุดฐานะทางการคลังของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ใน 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค. 63 - ก.พ. 64) ขาดดุลงบประมาณแล้วเกือบ 5 แสนล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 138.1 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังมีการกู้เงินสูงกว่าการลงทุน ซึ่งแปลว่าต้องกู้เงินมาใช้จ่ายกันแล้ว แทนที่จะกู้เงินเพื่อมาลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศให้มีผลตอบแทน ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายเหมือนกับครัวเรือนที่มีแต่หนี้แต่ไม่สร้างรายได้ก็คงรอวันล้มละลาย สาเหตุมาจากที่ผ่านมารัฐบาลใช้เงินงบประมาณอย่างมหาศาลแล้ว 24 ล้านล้านบาท แต่รัฐบาลไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจพัฒนาได้ ไม่มีการพัฒนาเศรษฐกิจในแนวทางใหม่ๆ ขาดการลงทุนใหม่ๆ รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากกับความมั่นคง และการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่สิ้นเปลืองและไม่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจเลย อีกทั้งยังแจกเงินอย่างสะเปะสะปะไม่ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ทำให้ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสูงซึ่งน่าจะทะลุ 60เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพีในสิ้นปีนี้ และ หนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นแล้วถึง 14 ล้านล้านบาทแล้ว โดยจะทะลุ 90เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงและจะปัญหาอย่างรุนแรงในอนาคต
นายพิชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ลดงบประมาณในปี 2565 ลง 5.66เปอร์เซ็นต์ หรือ ลดลงกว่า 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งแสดงถึงว่าเศรษฐกิจไทยกำลังถอยหลัง เพราะปกติงบประมาณของประเทศจะต้องเพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อรัฐบาลจะได้นำไปพัฒนาประเทศให้เจริญขึ้นเรื่อยๆ แต่รัฐบาลกลับจัดงบประมาณลดลง ทั้งนี้เพราะรัฐบาลขาดความรู้ความเข้าใจ คิดว่าเก็บภาษีได้น้อยลงมาก็เลยลดงบประมาณลงเพราะกลัวจะต้องกู้มาก กลัวหนี้เพิ่มสูงมาก ซึ่งเป็นผลจากในอดีตที่บริหารเศรษฐกิจผิดพลาดมาตลอด รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ใช้เงินมากแต่เศรษฐกิจไม่ขยายตัว และปัจจุบันก็ยังไม่มีแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ชัดเจนมีแต่การไล่แจกเงิน ซึ่งไม่ได้สร้างงาน ไม่ได้สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แม้แต่เรื่องการกระจายการฉีดวัคซีนที่มีผลต่อการฟื้นเศรษฐกิจก็ยังทำได้ล่าช้าและล้มเหลว การฟื้นเศรษฐกิจจึงต้องล่าช้าออกไป นอกจากนี้เมื่อเก็บภาษีได้น้อยลงไม่ตรงเป้า รัฐบาลกลับจะมีแนวคิดจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่อยู่แล้ว แต่พอถูกตำหนิมากเลยต้องออกมาปฏิเสธ ทั้งที่ความพยายามจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ พลเอกประยุทธ์ได้เคยพูดโยนหินถามทางมาหลายครั้งแล้ว จริงอยู่แม้ว่าประเทศไทยยังมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับที่สูงที่สะสมมาจากรัฐบาลในอดีต จึงทำให้สถานภาพของไทยยังดีอยู่ เครดิตเรตติ้งจึงยังไม่ตก แต่ไม่ได้แปลว่าประเทศไทยมีการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ดี เพราะทุกวันนี้ประเทศไทยเปรียบเหมือนบริษัทที่มีผลการดำเนินการขาดทุนมาตลอด แต่อาศัยกำไรเดิมที่มีอยู่ หรืออาศัยการกินบุญเก่า ซึ่งบุญเก่าอาจจะหมดลงได้ โดยหากการบริหารเศรษฐกิจของประเทศยังล้มเหลวเป็นแบบในปัจจุบัน ความเชื่อมั่นของไทยจะลดลงไปเรื่อยๆ เงินทุนจะไหลออกมากและจะเป็นปัญหาได้ และอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยและเครดิตของไทยทรุดลงหนักได้อย่างรวดเร็ว โดยเงินทุนได้เริ่มไหลออกแล้ว จึงทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง ซึ่งแม้จะผลดีต่อการส่งออก แต่ถ้าหากเงินทุนไหลออกจำนวนมากอาจจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้
"ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าปัญหาเศรษฐกิจนี้เกิดมาจากผู้นำที่ขาดความรู้ความสามารถแต่พยายามจะอวดรู้ อีกทั้งไม่สามารถสร้างให้เกิดความมั่นใจทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ ขนาดเรื่องง่ายๆอย่างการแจกเงินที่ไม่ยอมแจกเป็นเงินสด ทั้งที่ประชาชนเดือดร้อนกันอย่างหนัก พอมีความจำเป็นต้องใช้เงินสดจึงต้องยอมไปขายลดเพื่อแลกเป็นเงินสดแต่ก็ยังถูกไล่จับ ทั้งที่รัฐบาลก็ต้องจ่ายเงินออกจากงบประมาณเท่ากันแต่กลับไม่ยอมแจกเงินสด อีกทั้งการกระจายฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงยังทำได้ล่าช้ามาก เป็นต้น ดังนั้น เรื่องยากๆอย่างการฟื้นเศรษฐกิจคงจะแทบเป็นไปไม่ได้เลย ในวิกฤติการณ์ไวรัสโควิดซึ่งจะส่งผลซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้วให้เป็นวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ประเทศไทยต้องการคนที่รู้ลึกและรู้จริงในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จะมาบริหารล้มเหลวแบบที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว ประเทศจะยิ่งถอยหลังประชาชนจะยิ่งลำบากกันมาก และคนจะทนกันไม่ไหว จนต้องออกมาไล่พลเอกประยุทธ์กันเพิ่มขึ้นในทุกหมู่เหล่าและทุกสีเสื้อ ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ พยายามถ่วงการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดรักษาอำนาจของตัวเองก็จะยิ่งทำให้ประชาชนโกรธแค้นมากขึ้น สถานการณ์ของไทยในสายตาของต่างประเทศไม่ต่างจากประเทศเมียนมาร์ เพียงแต่รอวันที่ความขัดแย้งและความลำบากอย่างรุนแรงจะประทุขึ้นมาเท่านั้น"นายพิชัย กล่าว