คณะผู้บริหารคลองสุเอซของอียิปต์ เตรียมเรียกเงินค่าเสียหาย กว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3,124 ล้านบาท) หลังจากเรือบรรทุกสินค้าขนาดยักษ์ของไต้หวัน เกยตื้นขวางการเดินทางสัญจรผ่านคลองนาน 6 วัน พร้อมกับเตือนว่า เรือและสินค้าบรรทุกบนเรือทั้งหมด จะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกจากอียิปต์ หากการเรียกค่าเสียหาย กลายเป็นคดีฟ้องร้องต่อศาล
พล.ท.โอซามา เรบี ประธานองค์การคลองสุเอซ หรือ เอสซีเอ (Suez Canal Authority : SCA) ของอียิปต์ เผยว่า เอสซีเอจะเรียกร้องเงินค่าชดเชย มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับความเสียหายที่เกิดจากเรือขนส่งสินค้า เอเวอร์ กิฟเวน (Ever Given) เกยตื้นขวางคลองฯ ซึ่งทำให้ต้องระงับการเดินเรือผ่านคลองฯ นาน 6 วัน พร้อมกับย้ำว่า การเรียกค่าเสียหายเป็นสิทธิ ที่อียิปต์จะไม่ยอมปล่อยมันหลุดลอยไป
เรือเอเวอร์ กิฟเวน ระวางขับน้ำ 224,000 ตัน แล่นชนฝั่งและปิดกั้นทางน้ำสายสำคัญ ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. และกลับมาลอยได้ในอีก 6 วันต่อมา ด้วยความพยายามร่วมกันระหว่างเอสซีเอ กับโบสกาลิส (Boskalis) บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ และสมิท ซัลเวจ (Smit Salvage) ทีมรับมือเหตุฉุกเฉิน ที่ถูกว่าจ้างโดยเจ้าของเรือเอเวอร์ กิฟเวน
เรือเอเวอร์ กิฟเวน จดทะเบียนในปานามา เจ้าของเรือเป็นบริษัทในญี่ปุ่น แต่ดำเนินกิจการโดยบริษัทในไต้หวัน
พล.ท. เรบี กล่าวว่า เงินที่เอสซีเอเรียกร้อง ไม่เพียงเป็นค่าชดเชย สำหรับความสูญเสียทางการเงิน ที่เกิดจากการระงับการเดินเรือในคลองสุเอซนาน 6 วัน แต่ยังรวมถึงค่าใช้จ่าย ในการใช้งานเรือขุดและเรือลากจูง ตลอดจนความเสียหายทางกายภาพที่เกิดขึ้นระหว่างการกอบกู้เรือ
การสัญจรในคลองสุเอซกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง หลังการกอบกู้เรือเอเวอร์ กิฟเวนที่กินเวลานานหลายชั่วโมงเสร็จสิ้นลงเมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ (29 มี.ค.) จากนั้นเรือราว 422 ลำที่ติดค้างอยู่จึงเริ่มเดินทางผ่านคลองได้
คลองสุเอซเป็นทางน้ำที่ขุดขึ้น เพื่อเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง และกลายเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าทางทะเลสายสำคัญของโลก เนื่องจากเอื้อให้เรือเดินทางระหว่างยุโรปกับเอเชียใต้ได้โดยไม่ต้องอ้อมไปทางใต้ของทวีปแอฟริกา ช่วยย่นระยะทางทางทะเล ระหว่างยุโรปกับอินเดียได้ประมาณ 7,000 กิโลเมตร โดย 12 เปอร์เซนต์ของปริมาณการค้าทั่วโลกล้วนต้องขนส่งสินค้าผ่านคลองสุเอซ.