"พิธา" เตือนนายกฯล้มเหลวนโยบาย ตปท.ทำไทยขายหน้าประชาคมโลก

2021-03-31 11:37:39

"พิธา" เตือนนายกฯล้มเหลวนโยบาย ตปท.ทำไทยขายหน้าประชาคมโลก

Advertisement

"พิธา" เตือนนายกฯ ล้มเหลวนโยบายต่างประเทศ ทำไทยขายหน้าประชาคมโลก วอนหยุดสนับสนุนกองทัพที่เข่นฆ่าประชาชน  แนะ 3 ข้อทำอย่างเร็วที่สุด

รวมเลขเด็ด 10 สำนัก งวดวันที่ 1 เม.ย.2564

เล่นใหญ่ใจโตเกือบ 3 หมื่น “ฮาย” โชว์ลอตเตอรี่หลายปึก ฝากรัฐบาลออกให้ตรงกับที่ซื้อด้วย

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตนและ ส.ส.พรรคก้าวไกลรู้สึกสะเทือนใจอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา ทั้งการเข้าจับกุมโดยพลการและการใช้ความรุนแรงอย่างปราศจากสำนึกต่อผู้ชุมนุมโดยสันติ และขอประณามการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ เหยื่อของความรุนแรงโดยรัฐนั้นมีทั้งผู้ชุมนุม ผู้ปฏิบัติงานฉุกเฉิน บุคลากรการแพทย์ ประชาชน และเด็กผู้บริสุทธิ์ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการก่ออาชญากรรมอันเลวร้ายอย่างเป็นระบบโดยผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของกองทัพเมียนมา การที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงท่าทียอมรับการรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมาโดยเปิดเผย นอกจากจะเป็นการทรยศปณิธานที่จะได้มาซึ่งประชาธิปไตยของชาวเมียนมาแล้วนั้น ยังบั่นทอนสถานะของประเทศไทยในประชาคมระหว่างประเทศอีกด้วย ทำให้บทบาทนำในภูมิภาค รวมถึงความน่าเชื่อถือในระดับสากลของไทยยิ่งถดถอยอย่างมาก พรรคก้าวไกลขอประณามรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่ให้การสนับสนุนความรุนแรงและกองทัพที่เข่นฆ่าประชาชน

นายพิธา กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า ไทยไม่เพียงเป็นชาติแรกในโลกที่เปิดประตูบ้านรับผู้แทนของคณะทหารเมียนมา แต่พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นผู้นำรัฐบาลคนแรกที่ยอมเดินทางไปหานายวันนะ หม่อง ลวิน ซึ่งทำหน้าที่ รมว.ต่างประเทศของคณะรัฐประหาร ที่อากาศยานทหาร กองบิน 6 ซึ่งนอกจากผิดหลักพิธีการทูตที่ระดับรัฐมนตรีนั้นต้องเดินทางไปเยี่ยมคารวะบุคคลที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลแล้ว การที่หัวหน้ารัฐบาลยอมพบหารือกับผู้แทนระดับสูงของคณะทหารเมียนมานั้น ถือเป็นการให้การยอมรับทางการทูตอย่างสมบูรณ์

"การส่งผู้ช่วยทูตทหารเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองวันกองทัพเมียนมานั้น โดยนัยทางการทูตถือเป็นการตอกย้ำต่อประชาคมโลกว่า กองทัพไทยซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม ให้การยอมรับกองทัพเมียนมา ไม่สามารถเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้นอกจาก ประเทศไทยยอมรับนับถือและพร้อมที่จะคบค้าสมาคมกับคณะบุคคลที่ถือปืนปล้นประชาธิปไตย เข่นฆ่า ทรมาน และกักขังพี่น้องร่วมชาติผู้เห็นต่างตามอำเภอใจนับร้อยนับพันคน ซึ่งทำให้สถานะของไทยที่เคยเป็นประเทศชั้นนำในภูมิภาคที่ให้ความสำคัญกับหลักการและค่านิยมสากลด้อยค่าด้อยราคาลงมากไปกว่านั้น การแสดงการยอมรับคณะรัฐประหารของเมียนมา โดยการแอบส่งสเบียงให้กองกำลังทหารภายใต้การนำของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และการติดประกาศให้สมาชิกคณะกรรมการผู้แทนสภาแห่งสหภาพ (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw - CRPH) อยู่ในรายชื่อบุคคลเฝ้าระวังตามแนวชายแดนนั้น นับเป็นการทรยศต่อข้อเรียกร้องของคนเมียนมานับแสนนับล้านคนที่ขอให้คณะทหารมอบประชาธิปไตยคืนแก่ประชาชน และปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังตามอำเภอใจทั้งหมดรวมถึงนางออง ซาน ซูจี ตลอดจนทรยศต่อหลักการและพันธกรณีด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรมขั้นพื้นฐาน ที่รัฐบาลไทยประกาศบนเวทีระหว่างประเทศว่ายึดมั่นมาตลอดหากเรื่องนี้ เป็นที่รับทราบของประชาชนชาวเมียนมาโดยทั่วไป สวัสดิภาพของคนไทยและความปลอดภัยของธุรกิจไทยในเมียนมาอาจตกอยู่ในอันตราย ดังที่ได้มีการเผาโรงงานของบางประเทศที่มีท่าทีสนับสนุนคณะทหารเมียนมาร์มาก่อนหน้านี้ หากเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้ขึ้นกับคนไทยและธุรกิจไทยในเมียนมาร์ พลเอกประยุทธ์จะสามารถรับผิดชอบต่อชีวิตและทรัพย์สินของเขาเหล่านั้นได้หรือไม่ อย่างไร" นายพิธา กล่าว

นายพิธา ได้ยังได้แนะนำ พล.อ.ประยุทธ์ 3 ข้อที่ต้องเร่งทำอย่างเร็วที่สุดคือ 1.ร้องขอให้บรูไนในฐานะประธานอาเซียน จัดการการประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษโดยเร็วที่สุด ตามที่ประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียได้ร้องขอ 2. ติดตามดูแลความเป็นอยู่ของคนไทยที่ยังต้องอยู่ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด และพร้อมนำออกจากประเทศเมื่อได้รับการร้องขอ 3. ประสานกับมิตรประเทศเพื่อช่วยเหลือผู้หนีภัยการสู้รบและการประหัตประหารในเมียนมาตามหลักมนุษยธรรม โดยไม่ผลักดันกลับประเทศ ในการเข้าไปช่วยเหลือผู้อพยพ ต้องเปิดให้ภาคประชาสังคมของไทยและนานาชาติเข้าตรวจสอบได้ เช่น การลงชื่อเข้าเยี่ยม ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้อพยพ โดยเฉพาะเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการถูกล่อลวงสูง โดยการเข้าตรวจสอบในครั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการคัดกรองความเสี่ยงของโควิด และเมื่อสถานการณ์สงบลงและมีแนวโน้มดีขึ้น ผู้อพยพพร้อมกลับไปยังถิ่นฐานเดิม ขอให้ UNHCR และกระทรวงมหาดไทยเป็นพยานความสมัครใจ หากมีผู้ไม่สมัครใจจะกลับไปยังถิ่นฐานเดิม ควรมีการดำเนินการระหว่าง UNHCR ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยคัดกรองผู้อพยพโดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อการประหัตประหารหากถูกส่งตัวกลับ ในขณะที่ประชาคมโลกต่างประณามการกระทำอันโหดเหี้ยมป่าเถื่อนของคณะทหารเมียนมา สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปมีมาตรการคว่ำบาตรต่อคณะทหารเมียนมา ผู้บัญชาการทหารจาก 12 ประเทศออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงถึงชีวิตกับประชาชนมือเปล่า หรือแม้แต่รัฐมนตรีต่างประเทศประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศก็ไม่ให้การยอมรับนายวันนะ หม่อง ลวิน ในฐานะ รมว.ต่างประเทศ ด้วยซ้ำ นโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ต่อเรื่องการรัฐประหารในเมียนมาจึงถือเป็นความล้มเหลวทางการทูตและนโยบายด้านการต่างประเทศของไทยโดยสิ้นเชิง