ศาลตีตกไม่จำหน่ายคดี"จตุพร"บุกบ้าน"ป๋าเปรม"

2021-03-22 17:05:32

ศาลตีตกไม่จำหน่ายคดี"จตุพร"บุกบ้าน"ป๋าเปรม"

Advertisement

ศาลไม่จำหน่ายคดี "จตุพร" พากลุ่ม นปช.บุกบ้าน "ป๋าเปรม" ก่อนนัดตรวจหลักฐาน 7 มิ.ย.นี้

“หมิว สิริลภัส” เอาเรื่องให้ถึงที่สุดหลังถูก ตร.คุกคาม ตามเข้าห้องน้ำ!

กทม.ยันข่าวเก่า สั่งปิดตลาด-ห้างสรรพสินค้า

"หมูทะ"ชีวิตสุดหรูดุจคุณนาย วันนี้มีรถหรูป้ายแดงข้างกาย



เมื่อวันที่ 22 มี.ค. จากกรณี ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดพร้อมคู่ความคดีชุมนุมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ สำนวนที่ 2 หมายเลขดำ อ2799/2557 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. และนายศราวุธ หลงเส็ง ผู้ชุมนุม นปช. เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 215, 216 สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 ก.ค.2550 แกนนำและแนวร่วม นปช.นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคนจากเวทีปราศรัยที่สนามหลวง ไปยังบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม เพื่อกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง โดยสำนวนคดีที่สอง อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 29 ส.ค.2557 ภายหลังจาก นายจตุพร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พ้นสมัยประชุมสภา โดยก่อนหน้านี้คดีสำนวนแรก หมายเลขดำ อ3531/2552 พนักงานอัยการได้ฟ้องแกนนำ นปช.และผู้ชุมนุมรวม 7 ราย โดยศาลฎีกา พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุก นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช., นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. คนละ 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา


จากนั้นในวันที่ 21 ก.ย.2563 ศาลนัดพร้อมคดี โดยนายจตุพร จำเลยที่ 1 แถลงต่อศาล ว่า คดีนี้ในชั้นพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการได้ตั้งสำนวนมีผู้ร่วมกระทำความผิดในส่วนของจำเลยพร้อมกับผู้ต้องหาอีกหลายคน แต่เนื่องจากอัยการมีคำสั่งให้ฟ้องผู้ต้องหาแต่ละคนแยกสำนวนคนละคดีในลักษณะเลือกตัวบุคคล ซึ่งเป็นการกระทำมิชอบ จำเลยที่ 1 เห็นว่าการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันในคดีเดียวกัน จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งต่อมาในวันที่ 9 พ.ย.2563 อัยการโจทก์แถลงถึงผู้ต้องหาที่เหลือซึ่งมีทั้งคดีขาดอายุความและเสียชีวิตแล้ว จำเลยจึงขอทราบเกี่ยวกับเรื่องการทำงานของโจทก์ในการติดตามตัวผู้ต้องหาที่เหลือมาฟ้องคดี


วันนี้อัยการโจทก์, จำเลยที่ 1-2 พร้อมทนายความ เดินทางมาศาล โดยมีประเด็นพิจารณา คือ กรณี นายจตุพร จำเลยที่ 1 ระบุเรื่องอัยการโจทก์ไม่ตามตัวนายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ อดีตอธิบดีศาลอาญา ในฐานะอดีตแกนนำ นปช.มาฟ้องต่อศาล จึงขอให้ศาลเรียกนายมานิตย์ มาทำการไต่สวน นอกจากนี้โจทก์ยังไม่ติดตามตัวผู้ต้องหาที่อยู่ต่างประเทศมาดำเนินคดี และโจทก์ใช้วิธีการฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่โจทก์ระบุข้อเท็จจริงต่างๆ ครบถ้วนแล้วโดยืนยันว่ามีการติดตามตัวผู้ต้องหา และได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินการขอหมายจับผู้ต้องหา แต่เมื่อจับกุมตัวไม่ได้เมื่อเรื่องเข้าที่ประชุมจึงสั่งยุติคดี 


ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ การที่พนักงานอัยการจะยื่นฟ้องบุคคลใดต่อศาลหรือไม่นั้น ย่อมเป็นดุลยพินิจของพนักงานอัยการ ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องข้างต้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายมานิตย์, นายบรรธง สมคำ, มล.วีระยุทธ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา, นายจักรภพ เพ็ญแข และนายจรัล ดิษฐาอภิชัย ทั้ง 5 คนดังกล่าวคดีขาดอายุความ พนักงานอัยการ จึงมีคำสั่งยุติคดี ส่วนกรณีที่ทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องเข้าขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว เพื่อให้โจทก์นำตัวบุคคลดังกล่าวมาฟ้องคดีต่อศาลนั้น ยังไม่มีเหตุผลที่จะให้ศาลต้องจำหน่ายคดีชั่วคราวตามคำร้องของจำเลยทั้งสอง จึงยกคำร้อง เพราะไม่จำต้องเรียกพนักงานสอบสวน และนายมานิตย์ มาทำการไต่สวนอีก หากจำเลยทั้งสองเห็นว่าการดำเนินการของพนักงานอัยการ เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ไปว่ากล่าวคดีต่างหากอีกเรื่องหนึ่ง แต่ในชั้นนี้เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองตามกฎหมาย จึงให้ดำเนินคดีต่อไป โดยเลื่อนคดีไปนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยานวันที่ 7 มิ.ย.2564 เวลา 9.30 น.