"องค์กรวิชาชีพสื่อฯ"แถลงไม่เห็นด้วยกับการก่อความรุนแรง

2021-03-21 12:35:07

"องค์กรวิชาชีพสื่อฯ"แถลงไม่เห็นด้วยกับการก่อความรุนแรง

Advertisement

"องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน" แถลงการณ์ร่วมไม่เห็นด้วยกับการก่อความรุนแรงทุกรูปแบบ

โพลชี้ ปชช.หนุนใช้ ก.ม.คนชักใย"ม็อบ"ทำลายชาติ

สรุป"ม็อบ 20 มีนา"ปะทะ ตร.ได้รับบาดเจ็บ 33 ราย

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ออกแถลงการณ์ร่วม เรื่อง การปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ชุมนุม จนทุกฝ่ายได้รับบาดเจ็บทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้ชุมนุม และสื่อมวลชนที่รายงานข่าว โดยระบุข้อความว่า จากกรณีที่มีการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่บริเวณท้องสนามหลวงเมื่อวันเสาร์ที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา จนเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำไปสู่การสลายการชุมนุมโดยการฉีดน้ำ ยิงแก๊สน้ำตา และใช้กระสุนยาง จนเป็นเหตุให้มีนักข่าวและช่างภาพที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวการชุมนุมได้รับบาดเจ็บหลายราย องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน อันประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว โดยขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้น และไม่เห็นด้วยกับการก่อความรุนแรงในทุกรูปแบบ พร้อมทั้งมีข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะถึงฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้




1. การชุมนุมของประชาชนกลุ่มต่างๆ หากเป็นการการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากการยั่วยุ ปราศจากอาวุธ และการใช้ความรุนแรง ย่อมเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย

2. การปฏิบัติการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ควรดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน โดยก่อนการปฏิบัติการต่างๆ ต้องแจ้งให้ผู้ชุมนุมรวมทั้งสื่อมวลชนได้รับทราบอย่างชัดเจน เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ

3. ผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ชุมนุม ต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติในการรายงานข่าวในสถานการณ์วิกฤตโดยเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียอันอาจเกิดแก่ร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สิน

4. องค์กรสื่อมวลชนต้นสังกัด ต้องร่วมประเมินสถานการณ์เพื่อให้การสั่งการต่อผู้สื่อข่าวและช่างภาพในพื้นที่ให้ได้รับความปลอดภัย รวมทั้งสนับสนุนและเน้นย้ำให้บุคคลากรในสังกัดได้รับและใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวอยู่ตลอดเวลา


องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอเน้นย้ำว่า การปฏิบัติหน้าที่ของผู้สื่อข่าวและช่างภาพในพื้นที่ชุมนุม ควรใส่ปลอกแขนแสดงสัญลักษณ์ที่ทางองค์กรวิชาชีพสื่อ ออกให้ทุกครั้ง แต่ต้องเข้าใจว่าปลอกแขนดังกล่าวไม่ได้เป็นเครื่องมือในการป้องกันกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจากฝ่ายใด โดยผู้ปฏิบัติงานจะต้องประเมินสถานการณ์และปฏิบัติตามแนวทางการรายงานข่าวในสถานการณ์วิกฤตด้วย