ไขข้อข้องใจ ทำไม “อาร์ชี” พระโอรสของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกน ไม่ได้พระยศเป็นเจ้าชาย

2021-03-10 11:50:36

ไขข้อข้องใจ ทำไม “อาร์ชี” พระโอรสของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกน ไม่ได้พระยศเป็นเจ้าชาย

Advertisement

ในการประทานสัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ของโอปราห์ วินฟรีย์ เมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ได้เปิดเผยว่าขณะที่กำลังทรงครรภ์อยู่นั้น ได้มีการพูดคุยถึงอนาคตโอรสของพระองค์กับเจ้าชายแฮร์รี ดยุคแห่งซัสเซกซ์ ซึ่งรวมถึงเรื่องยศที่จะได้

เมแกนทรงเล่าว่า "พวกเขาบอกว่าไม่ต้องการให้ลูก (อาร์ชี) เป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิง โดยที่ยังไม่รู้ว่าเป็นเพศอะไร ซึ่งจะผิดไปจากกฎเกณฑ์ของราชสำนัก"




กฎราชสำนักว่าอย่างไร

กฎเกณฑ์ว่าใครจะได้มียศเจ้าชาย ซึ่งจะมีคำนำหน้านามว่า His Royal Highness (HRH) มาจากพระราชเอกสารสิทธิ (letter patent) ที่ออกโดย สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ผู้เป็นพระอัยกา (ปู่) ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง เมื่อเดือน พ.ย. 1917



พระราชเอกสารสิทธิ เป็นเอกสารทางกฎหมายที่อาจอยู่ในรูปของจดหมายเปิดผนึกจากกษัตริย์ และอาจใช้ในคำประกาศต่าง ๆ ของกษัตริย์ หรือเพื่อการพระราชทานตำแหน่งหรือบรรดาศักดิ์แก่ขุนนาง

ในพระราชเอกสารสิทธิในปี 1917 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงประกาศว่าพระราชปนัดดา (เหลน) ของกษัตริย์จะไม่ได้เป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิง ยกเว้นแต่เหลนที่เป็นโอรสองค์โตของพระโอรสองค์โตของเจ้าชายแห่งเวลส์เท่านั้นที่จะได้มียศเป็นเจ้าชาย

ในสถานการณ์ปัจจุบันจึงหมายความถึง เจ้าชายจอร์จ พระโอรสองค์โตในเจ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งเคมบริดจ์ ซึ่งมีสิทธิ์ได้เป็นเจ้าชายโดยอัตโนมัติ ส่วนอาร์ชีไม่มีคุณสมบัติตรงตามกฎเกณฑ์นี้ แม้จะเป็นพระราชปนัดดาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองก็ตาม

ขณะเดียวกัน หากยึดตามกฎเกณฑ์นี้ เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ และเจ้าชายลูอีส์ พระขนิษฐาและพระอนุชาของเจ้าชายจอร์จก็จะไม่ได้ยศนี้เช่นกัน



แต่ในเดือน ธ.ค. 2012 สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงออกพระราชเอกสารสิทธิที่ให้ทายาทของเจ้าชายวิลเลียมทุกพระองค์ได้มียศเจ้าหญิงหรือเจ้าชาย และมีคำนำหน้าชื่อว่า HRH

นอกจากนี้ การเป็นเจ้าหญิงหรือเจ้าชายเป็นสิ่งที่ตกทอดไปตามผู้สืบสกุลชาย ดังนั้นจึงหมายความว่าพระโอรสและพระธิดาของเจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี ต่างก็ไม่ได้ยศนี้แม้จะเป็นพระราชนัดดา (หลาน) ของสมเด็จพระราชินีนาถฯ


แล้วอาร์ชีจะได้ยศหรือไม่



ตามพระราชเอกสารสิทธิในปี 1917 อาร์ชียังมีสิทธิจะได้เป็นเจ้าชายในอนาคต

ทายาทของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกนจะต้องรอจนกว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์จะเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์เสียก่อน ซึ่งในตอนนั้นพวกเขาก็จะกลายเป็นพระราชนัดดาของกษัตริย์และจะได้มียศเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิง

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม พระธิดาสองพระองค์ของเจ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ก คือ เจ้าหญิงเบียทริซ และเจ้าหญิงยูเชนี จึงมียศเป็นเจ้าหญิงแต่กำเนิด

ดูเหมือนว่าดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์จะทราบถึงกฎเกณฑ์ข้อนี้ดี แต่ในการให้สัมภาษณ์กับโอปราห์ วินฟรีย์ เมแกนกลับระบุว่า พระองค์ได้รับการบอกกล่าวในขณะที่ทรงครรภ์ว่า "พวกเขาต้องการเปลี่ยนกฎสำหรับอาร์ชี" เพื่อที่เขาจะไม่ได้มียศเป็นเจ้าชาย



ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องนี้ ขณะที่สำนักพระราชวังบัคกิงแฮมก็ไม่ได้แสดงความคิดเห็นใด ๆ ต่อคำกล่าวอ้างของพระองค์

ดร.บ็อบ มอร์ริส จาก Constitution Unit สถาบันวิจัยรัฐธรรมนูญของยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน ระบุว่า สิ่งที่เมแกนอ้างถึงคือแผนการของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ที่ต้องการลดขอบเขตผู้ที่มีสิทธิให้แคบลง เพราะทรงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องลดขนาดของราชวงศ์ให้เล็กลง


เช่นเดียวกัน เมแกน มาร์เคิล ก็ไม่มียศเป็น “เจ้าหญิง”

หลายคนอาจสงสัยว่า หลังเข้าพิธีเสกสมรสกับเจ้าชายแฮร์รีแห่งเวลส์แล้ว น.ส.เมแกน มาร์เคิล จะได้มียศในราชวงศ์อังกฤษเป็น "เจ้าหญิงเมแกน" โดยอัตโนมัติเลยหรือไม่ คำตอบที่มีอยู่อาจสร้างความผิดหวังให้กับใครหลายคน เพราะเป็นที่แน่นอนว่าสามัญชนที่ไม่มีเลือดสีน้ำเงิน จะไม่สามารถดำรงยศเป็นเจ้าหญิงหรือเจ้าชายในราชวงศ์อังกฤษได้

เฉพาะผู้ที่มีเชื้อสายของกษัตริย์โดยตรง เช่น เจ้าหญิงแอนน์ พระราชธิดาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง หรือเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต พระขนิษฐา รวมทั้งเจ้าหญิงเบียทริซ และเจ้าหญิงยูจีนีพระราชนัดดา สามารถดำรงพระยศเป็น "เจ้าหญิง" ในราชวงศ์อังกฤษได้อย่างถูกต้อง

ในขณะที่บรรดาพระสุณิสาซึ่งเป็นสามัญชน เช่น ซาราห์ เฟอร์กูสัน ดัชเชสแห่งยอร์ก หรือโซฟี รีส โจนส์ เคาน์เตสส์แห่งเวสเซกซ์ ไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น "เจ้าหญิงซาราห์" หรือ "เจ้าหญิงโซฟี" ได้แต่อย่างใด

แม้แต่ "เจ้าหญิงไดอานา" ซึ่งเป็นพระนามที่คุ้นหูกันทั่วไปนั้น ก็ไม่ใช่พระยศที่เป็นทางการ คำเรียกขานที่ถูกต้องคือ "เจ้าหญิงแห่งเวลส์" และหลังจากการหย่าร้างกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ พระนามที่เป็นทางการคือ "ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์" ซึ่งไม่ใช่ยศเจ้าหญิงตามชาติกำเนิดแต่อย่างใด

กระบวนการเดียวกันนี้จะถูกนำมาใช้ในกรณีของมาร์เคิล ด้วย เพื่อแก้ปัญหาเรื่องตำแหน่งยศของสตรีสามัญชนที่เข้ามาเป็นพระสุณิสา (สะใภ้) ของราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งจะไม่สามารถเรียกขานกันได้ว่าเป็น "เจ้าหญิง" แต่จะมียศตำแหน่งอื่น ๆ ที่ไม่ได้มาจากชาติกำเนิดไว้รองรับ เพื่อนำมาใช้เรียกขานกันอย่างเป็นทางการ เช่นดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ เคาน์เตสส์แห่งเวสเซกซ์ หรือตำแหน่งดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ของคามิลลา พระชายาในเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์

ยศเหล่านี้มักมีการโปรดเกล้าฯ สถาปนาแก่พระราชวงศ์ก่อนที่จะเข้าพิธีเสกสมรสกับสามัญชน เพื่อให้พระสุณิสาผู้มาใหม่มียศตำแหน่งที่สมฐานะโดยไม่ต้องเป็น "เจ้าหญิง"

เช่นเดียวกัน มีการโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เจ้าชายแฮร์รี ดำรงพระยศดยุคแห่งซัสเซกซ์ (Sussex) ซึ่งเป็นตำแหน่งฐานันดรที่ว่างมานาน ซึ่งจะทำให้ น.ส.มาร์เคิลได้เป็นดัชเชสแห่งซัสเซกซ์หลังการเสกสมรสโดยอัตโนมัติ



ขอบคุณ ข้อมูล บีบีซีไทย