มทภ.4 เอาจริง ลุยจัดระเบียบแนวชายหาดเขาหลัก จ.พังงา ดีเดย์ 5 ม.ค. 2561 ต้องไม่มี โต๊ะ เตียง ร่ม ร้านค้า และศาลา
จากกรณี พบว่า มีประชาชนบุกรุก ที่ นสล. (หนังสือสำคัญที่หลวง) และ ชายหาด ใน ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ตั้งร้านค้าขายของโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นจำนวนมาก รวมถึง มีการจัดสรรที่ดินสาธารณะขาย และให้บุคคลเข้ามาเช่าขายของ ทำให้ คสช. และ จ.พังงา ต้องจัดระเบียบมาอย่างต่อเนื่อง แต่กลับพบว่า ยังมีการฝ่าฝืนอยู่ตลอดเวลา
ประกอบกับการจัดระเบียบดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนเนื่องจาก ที่ดิน นสล.ทุกแปลงที่ตั้งอยู่ติดกับชายหาด ได้มีประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2559 ห้ามกระทำกิจกรรมใดๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ จึงทำให้ไม่สามารถที่จะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบได้
ล่าสุด วันที่ 15 พ.ย. ที่ห้องประชุมศาลากลาง จ.พังงา พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช มทภ.4 พร้อมด้วยนายสิทธิชัย ศักดา ผวจ.พังงา คณะทำงานจัดระเบียบชายหาด จ.พังงา และตัวแทนผู้ประกอบการในพื้นที่ ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า ร่วมประชุมเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหา ให้กับผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 89 ราย
โดยคณะทำงานจัดระเบียบชายหาดจังหวัดพังงา ได้มีมีมติจากการประชุม 5 ข้อ คือ 1.ไม่อนุญาตให้บุคคลใด ทำการค้าขายบริเวณชายหาด ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า และไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ นสล.ในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากการจัดระเบียบชายหาด
2.ให้ อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำชับดูแลผู้ประกอบการและเจ้าของกิจการ ห้ามมิให้ก่อสร้าง เพิงพัก ศาลา อาคาร สินทรัพย์ใดๆ รวมทั้งการจัดวางร่ม โต๊ะ เตียง หรือที่นั่งบริเวณพื้นที่ชายหาดเพื่อป้องกัน มิให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการจัดระเบียบชายหาด หรือบุคคลอื่น ใช้เป็นเงื่อนไขในการเรียกร้องสิทธิต่างๆ
3.ให้จัดทำประกาศ จ.พังงา แจ้งและดำเนินการให้บุคคลได้ทราบว่า จ.พังงา ห้ามมิให้ผู้ใด ก่อสร้าง เพิงพัก ศาลา อาคารก่อสร้างใดๆ รวมทั้งการจัดวางร่ม โต๊ะ เตียง หรือที่นั่งบริเวณพื้นที่ชายหาด หากผู้ใดบุกรุกให้ดำเนินการรื้อถอนภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันประกาศ
4.ให้จังหวัดจัดทำคำสั่งประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกหน่วย ตรวจสอบพื้นที่และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
5.ให้ อำเภอ ตรวจสอบและจัดทำข้อมูลประวัติผู้ประกอบการทั้ง 89 ราย มีผู้เดือดร้อนจริง จำนวนกี่ราย จะได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือต่อไป
ทั้งนี้ มติที่ประชุมร่วมทุกฝ่าย อนุโลมให้ผู้ประกอบการเดิมสามารถอยู่ได้จนถึง วันที่ 5 มกราคม 2561 และเรียกร้องให้ผู้ประกอบการทั้ง 89 ราย ได้ลงทะเบียนตามโครงการตลาดประชารัฐ ซึ่ง จ.พังงา ดำเนินการใน 7 ประเภท ผ่านทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และอำเภอเพื่อจะได้จัดหาตลาดให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการต่อไป