วิจัยชี้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ดีกว่า

2021-03-06 06:10:49

วิจัยชี้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ดีกว่า

Advertisement


แม้ข้อมูลอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ที่นำเสนอกันในประเทศไทย ยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน ระหว่างฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยซึ่งให้ข้อมูลว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่อันตราย ไม่ควรให้มีการใช้หรือการขายในประเทศไทย กับฝ่ายสนับสนุนที่หยิบยกข้อมูลอีกด้านที่ชี้ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงต่ำสุขภาพน้อยกว่าการสูบบุหรี่ และอาจเป็นเครื่องมือช่วยเหลือบุหรี่หรือช่วยลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ ทำให้เรื่องการใช้บุหรี่ไฟฟ้าแบบถูกกฎหมายยังหาข้อยุติไม่ได้ในประเทศไทย

แต่ในประเทศอังกฤษ การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องถูกกฎหมายและได้รับการสนับสนุนให้ใช้เพื่อการเลิกบุหรี่ ล่าสุด สาธารณสุขอังกฤษ หรือ Public Health England (PHE) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้สังกัดของกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษได้ออกรายงาน หัวข้อ การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในอังกฤษ: หลักฐานล่าสุดซึ่งรวมถึงการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อการเลิกบุหรี่ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 (Vaping in England: an evidence update including vaping for smoking cessation, February 2021) ซึ่งเป็นรายงานฉบับที่ 7 ของ PHE ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง



รายงานฉบับดังกล่าวซึ่งจัดทำโดยนักวิจัยจากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้าได้รับความนิยมมากที่สุดในฐานะเครื่องมือในการเลิกบุหรี่ในปี 2563 โดยผู้สูบบุหรี่ในอังกฤษกว่า 27.2% เลือกใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยในการเลิกบุหรี่ ในขณะที่ 18.2% ใช้ผลิตภัณฑ์นิโคตินทดแทน (NRT) (เช่น แผ่นแปะและหมากฝรั่ง) และ 4.4 % ใช้ยาวาเรนิคลิน (Varenicline) ซึ่งเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ และมีการประมาณการในปี 2560 มีผู้สูบบุหรี่กว่า 50,000 คนสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า

นอกจากนี้ การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในวิธีการเลิกบุหรี่ในศูนย์บริการเลิกบุหรี่ในท้องถิ่นที่มีอัตราความสำเร็จสูงสุดระหว่าง 59.7% ถึง 74% ในปี 2562 และ 2563



ในรายงานยังระบุว่าเยาวชนอายุระหว่าง อายุ 11 ถึง 18 ปีที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างน้อยเดือนละครั้ง มีเพียง 4.8% ซึ่งเท่ากับปีที่แล้ว และมีเพียง 0.8% ของเยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนแต่ตอนนี้กำลังใช้บุหรี่ไฟฟ้าอยู่ โดยประเทศอังกฤษจะเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย เพราะยังพบรายงานการละเมิดกฎหมายห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีอยู่บ้าง ซึ่งอังกฤษเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะยาว

แม้ประเทศอังกฤษจะสนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่องหลายปี แต่ก็ยังมีผู้สูบบุหรี่ในประเทศอีกกว่า 53% ที่ยังเข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายเท่ากับหรือมากกว่าการสูบบุหรี่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขในอังกฤษหลายคนแสดงความกังวลว่าความเข้าใจผิดๆ เหล่านี้จะทำให้ผู้สูบบุหรี่ไม่ยอมเปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายสังคมปลอดควันภายในปี 2573 ของอังกฤษได้

อังกฤษจึงตั้งใจจะพัฒนาแผนควบคุมยาสูบฉบับใหม่และจะเริ่มทบทวนกฎระเบียบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับปี 2016 เพื่อให้มั่นใจว่ากฎหมายเกี่ยวกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้านั้นมีความถูกต้องเหมาะสม นั่นคือ ช่วยสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่เลิกบุหรี่ได้ ขณะเดียวกันก็จะต้องไม่ดึงดูดความสนใจของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่มาก่อนด้วย

อย่างไรก็ตาม PHE ก็ทิ้งท้ายไว้ว่าแม้งานวิจัยต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นจะชี้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่ หรือช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้ แต่บุหรี่ไฟฟ้าก็ไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไร้ความเสี่ยง เนื่องจากเรายังไม่ทราบผลกระทบในระยะยาว จึงมีคำแนะนำว่าเยาวชนและผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่อยู่แล้วนั้นก็ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้โดยเด็ดขาด



ดังนั้น หากประเทศไทยอยากจะคงการแบนบุหรี่ไฟฟ้าไว้ หรือจะพิจารณาวิธีการลดอันตรายใหม่ ๆ แบบอังกฤษ ก็คงต้องศึกษาข้อมูลการวิจัยกันให้ดี.