โรฮีนจา : ชีวิตที่แม้แต่พรหมก็ไม่กล้าลิขิต

2021-03-05 14:40:21

โรฮีนจา : ชีวิตที่แม้แต่พรหมก็ไม่กล้าลิขิต

Advertisement


“เรือลำน้อยพร้อมผู้โดยสารชาวโรฮีนจาหลายสิบคน ซึ่งรวมทั้งผู้หญิงและเด็ก เสียกลางทะเล และมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 8 คน” สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR) เรียกร้องให้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาที่ลอยเคว้งอยู่บนเรือกลางทะเลอันดามัน โดยไม่มีอาหารหรือน้ำดื่ม ผู้ลี้ภัยหลายคนล้มป่วยและร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง

ย้อนกลับไปในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 กองทัพเมียนมากวาดล้างชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮีนจาอย่างรุนแรง ส่งผลให้ชาวโรฮีนจาหลายแสนคน หอบลูกจูงหลานทะลักอพยพหนีตายข้ามพรมแดนเข้าสู่บังกลาเทศ พวกเขาเสี่ยงตายทั้งเดินเท้าและออกทะเล เพื่อหลบหนีการกวาดล้างของทหารเมียนมา ซึ่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ประณามว่า “เป็นแบบอย่างของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”



ในเดือนมกราคม 2563 ศาลอาญาระหว่างประเทศของยูเอ็น สั่งให้เมียนมา ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อปกป้องสมาชิกของชุมชนชาวโรฮีนจาให้รอดพ้นจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่กองทัพในเมียนมา หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พม่า แถลงว่า กองทัพกำลังต่อสู้กับกลุ่มหัวรุนแรงชาวโรฮีนจา และปฏิเสธเล่นงานเป้าหมายพลเรือน โดยออง ซาน ซู จี ผู้นำเมียนมา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นแบบอย่างในการต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชน ปฏิเสธข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หลายครั้งหลายหน

ชาวโรฮีนจาคือใคร?



นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็น กล่าวว่า ชาวโรฮีนจาหนึ่งในชนกลุ่มน้อยหลากหลายชาติพันธุ์ในเมียนมา คือกลุ่มคนที่ได้รับการเลือกปฏิบัติมากที่สุดในโลกกลุ่มหนึ่ง

ชาวโรฮีนจา ซึ่งมีจำนวนประชากรประมาณ 1 ล้านคนในเมียนมาเมื่อต้นปี 2560 ถือเป็นชาวมุสลิมกลุ่มใหญ่ที่สุดในเมียนมา โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ พวกเขามีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง และบอกว่า พวกเขาสืบเชื้อสายมาจากพ่อค้าชาวอาหรับ และกลุ่มอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคสืบทอดกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวดแล้ว แต่รัฐบาลเมียนมา ปฏิเสธให้สัญชาติชาวโรฮีนจา และไม่นับรวมพวกเขาในการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2557 ซึ่งเท่ากับเป็นการไม่ยอมรับพวกเขาเป็นพลเมืองเมียนมาอย่างสิ้นเชิง เพราะเมียนมามองว่า โรฮีนจาเป็นผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ

ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 โรฮีนจาจำนวนมากอพยพไปทั่วภูมิภาค จำนวนที่แท้จริงน่าจะสูงกว่าตัวเลขของทางการมาก โดยในช่วง 2-3 ปีก่อนเกิดวิกฤตล่าสุด โรฮีนจาหลายพันคน อพยพเดินทางไกลที่เต็มไปด้วยอันตรายออกจากเมียนมาเพื่อหนีความรุนแรงในชุมชน หรือการถูกทำร้ายโดยทหารเมียนมา

ทำไมพวกเขาต้องทิ้งบ้านทิ้งเรือนหนีไปตายเอาดาบหน้า?



การหลั่งไหลของคลื่นมนุษย์ เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 25 สิงหาคม 2017 หลังกลุ่มติดอาวุธโรฮีนจา อาร์ซา เริ่มปฏิบัติการโจมตีฐานที่มั่นตำรวจในเมียนมามากกว่า 30 แห่ง ชาวโรฮีนจา ที่เดินทางถึงบังกลาเทศ บอกเล่าเรื่องราวว่า พวกเขาหลบหนีหลังทหาร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากม็อบชาวพุทธในท้องถิ่น ที่ตอบโต้ความรุนแรงด้วยการวางเพลิงเผาหมู่บ้านของชาวโรฮีนจา มอดไหม้คาตา พร้อมโจมตีและเข่นฆ่าพลเรือนอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน มีชาวโรฮีนจาอย่างน้อย 6,700 คน ซึ่งรวมทั้งเด็กอย่างน้อย 730 คนที่มีอายุยังไม่ถึง 5 ปี ถูกฆ่าในเดือนดังกล่าว หลังความรุนแรงปะทุขึ้น จากข้อมูลของกลุ่มแพทย์ไร้พรมแดน หรือ MSF

องค์การนิรโทษกรรมระหว่างประเทศ (Amnesty International) บอกว่า ทหารเมียนมายังรุมข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงและเด็กหญิงชาวโรฮีนจาด้วย

รัฐบาลเมียนมา ซึ่งระบุว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 400 คน อ้างว่า การปฏิบัติการเก็บกวาดกลุ่มหัวรุนแรงชาวโรฮีนจา แล้วเสร็จในวันที่ 5 กันยายน แต่ผู้สื่อข่าวของบีบีซี มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า พวกเขายังคงเดินหน้ากวาดล้างต่อไปหลังวันดังกล่าว



มีหมู่บ้านอย่างน้อย 288 แห่ง ถูกเผาทำลายได้รับความเสียหายเป็นบางส่วน หรือไม่ก็ทั้งหมดในรัฐยะไข่ ทางภาคเหนือของประเทศหลังเดือนสิงหาคม 2017 จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมโดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนชื่อดัง Human Rights Watch แสดงให้เห็นว่า หลายพื้นที่ที่เป็นหมู่บ้านของชาวโรฮีนจา เหลือแต่ซากปรักหักพังจากไฟเผาผลาญอย่างช้า ๆ ขณะที่หมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ใกล้เคียงกันในยะไข่ ไม่ได้รับอันตราย

Human Rights Watch ระบุว่า เมืองหม่องดอว์ ได้รับความเสียหายหนักที่สุดระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม และ 25 กันยายน 2017 โดยหลายหมู่บ้านถูกทำลายล้างหลังวันที่ 5 กันยายน ซึ่งเป็นวันที่ออง ซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลเมียนมาในขณะนั้น กล่าวว่า การปฏิบัติการของกองกำลังรักษาความมั่นคง ได้ยุติลงแล้ว

นานาชาติตอบโต้และมีปฏิกิริยาอย่างไร?

รายงานชิ้นหนึ่ง ซึ่งเผยแพร่โดยคณะสอบสวนของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ในเดือนสิงหาคม 2018 กล่าวหากองทัพเมียนมาว่าปฏิบัติการฆ่าหมู่และรุมข่มขืน ด้วย “เจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” คดีนี้ขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือไอซีเจ ไปแล้ว หลังแกมเบีย ประเทศมุสลิมเล็ก ๆ ในแอฟริกาตะวันตก ยื่นฟ้องในนามประเทศมุสลิมอื่น ๆ หลายสิบประเทศ เรียกร้องให้ใช้มาตรการฉุกเฉิน เพื่อจัดการขั้นเด็ดขาดต่อกองทัพเมียนมา ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “ตะมะดอว์” จนกว่าจะเริ่มมีการสอบสวนที่สมบูรณ์กว่านี้



ศาล ไอซีเจ ตัดสินเฉพาะกรณีพิพาทระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือไอซีซี มีอำนาจในการพิจารณาคดีส่วนบุคคล ที่ถูกกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงครามต่อมนุษยชาติ ไอซีซีจึงได้อนุมัติให้มีการสอบสวนเต็มที่ในคดีของชาวโรฮีนจาในเมียนมา ในเดือนพฤศจิกายน แม้ว่าเมียนมาเองไม่ได้เป็นสมาชิกของไอซีซี แต่ไอซีซี ก็ตัดสินว่า ตัวเองมีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ เพราะบังกลาเทศ ประเทศที่ชาวโรฮีนจาหลบหนีเข้าไปลี้ภัย เป็นสมาชิกไอซีซี

ซูจี ปฏิเสธข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เมื่อเธอปรากฏตัวต่อศาลในเดือนธันวาคม 2019 แต่ในเดือนมกราคม 2020 คำพิพากษาเบื้องต้นของศาล สั่งให้เมียนมา ใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อปกป้องชาวโรฮีนจาไม่ให้ถูกข่มเหงรังแก และถูกฆ่า

เมียนมาปฏิเสธมาตลอดเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และบอกว่า ตนได้ทำการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2017 แล้ว คณะกรรมการสอบสวนอิสระของเมียนมา หรือไอซีโออี ยอมรับว่า สมาชิกของกองกำลังรักษาความมั่นคง อาจก่อ “สงครามอาชญากรรม, ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเลวร้าย และละเมิดกฎหมายภายในประเทศ” แต่อ้างว่า ไม่มีหลักฐานของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เมื่อไม่มีการเปิดเผยรายงานฉบับสมบูรณ์ ซึ่งมันยิ่งเพิ่มคำถามตามมา

เกิดอะไรขึ้นกับชาวโรฮีนจาในขณะนี้?

เนื่องจากเชื่อว่ามีชาวโรฮีนจา มากกว่าครึ่งล้านที่ยังอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ คณะสอบสวนของยูเอ็นจึงเตือนว่า “มีความเสี่ยงร้ายแรงที่อาจเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือการเข่นฆ่าซ้ำอีก”

คณะสอบสวนยูเอ็น ระบุในเดือนกันยายนว่า สถานการณ์ ซึ่งนำไปสู่ “การเข่นฆ่า, ข่มขืนและรุมโทรม, ทรมาน, บังคับข่มขู่ให้หนีออกจากบ้าน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนเลวร้ายอื่น ๆ ในปี 2017 ยังคงเกิดขึ้นอย่างไม่เปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งกล่าวโทษการขาดความรับผิดชอบและความล้มเหลวของรัฐบาลเมียนมาในการสอบสวนอย่างเต็มที่ต่อข้อกล่าวหาต่าง ๆ หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ด้วยตัวของรัฐยะไข่เอง ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ก็เป็นพื้นที่ความขัดแย้งระหว่างกองทัพและกบฏจากชนกลุ่มน้อยยะไข่อยู่แล้ว

อะไรเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย?

ผู้ลี้ภัยจำนวนมาก ซึ่งหลบหนีข้ามพรมแดนเข้าไปยังบังกลาเทศ ในปี 2017 ร่วมกับชาวโรฮีนจาอีกนับแสนคนที่อพยพออกจากเมียนมาเมื่อหลายปีก่อนหน้า

“คูตูปาลอง” ค่ายผู้ลี้ภัยใหญ่สุดในโลก ตามข้อมูลของข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR เป็นที่อยู่ของผู้ลี้ภัยมากกว่า 600,000 คนเพียงแห่งเดียว แต่ในเดือนมีนาคม 2019 รัฐบาลบังกลาเทศ ประกาศว่า จะไม่รับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาที่หลบหนีออกจากเมียนมาเพิ่มอีกแล้ว

ขณะเดียวกัน ทั้ง ๆ มีข้อตกลงส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศที่ผ่านความเห็นชอบร่วมกันในช่วงต้นปี 2018 แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการส่งผู้ลี้ภัยกลับแม้แต่คนเดียว พวกเขาบอกว่า จะไม่กลับไปยังเมียนมา จนกว่าจะได้รับการรับประกันว่า พวกเขาจะได้ “สัญชาติ” ซึ่งเป็นความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ที่รอคอยมานานตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ แต่แม้ว่าพวกเขาคิดจะเดินทางกลับในอนาคต มันก็อาจเป็นไปได้ยากแล้ว เมื่อหมู่บ้านหลายแห่งของพวกเขาถูกทำลายเพื่อเคลียร์พื้นที่จัดตั้งหน่วยงานของรัฐบาล

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ยูเอ็น เรียกร้องเพื่อใช้ความพยายามในการช่วยเหลือชีวิตของชาวโรฮีนจากลุ่มหนึ่งที่ลอยเคว้งอยู่ในทะเลนอกชายฝั่งบังกลาเทศทันที โดยเชื่อว่าเรือของพวกเขาติดค้างอยู่ใกล้หมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ของอินเดีย ซึ่งออกเดินทางเมื่อประมาณ 10 วันก่อน และเชื่อว่าบนเรือลำดังกล่าว น่าจะไม่มีอาหารและน้ำดื่มแล้ว และผู้โดยสารหลายคนบนเรือก็ล้มป่วย กลุ่มสิทธิมนุษยชนที่เรียกกว่า อาระกัน โปรเจ็กท์ (Arakan Project) กล่าวว่า มีผู้อพยพบนเรือเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 8 คน ส่วนใหญ่เกิดจากร่างกายขาดน้ำ ทางกลุ่มประเมินว่า เรือลำดังกล่าวมีผู้โดยสารประมาณ 90 คน ซึ่งรวมทั้งผู้หญิงและเด็ก 65 คน

“พวกเขาไม่มีน้ำดื่มหรืออาหารเหลือแล้ว เพราะฉะนั้นพวกเขากำลังดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดด้วยการดื่มน้ำทะเลด้วยความสิ้นหวัง” คริส เลวา ผู้อำนวยการของกลุ่มอาระกัน โปรเจ็กท์ กล่าวกับเว็บไซต์ News Minute

บีบีซี ได้ติดต่อกองทัพเรือและหน่วยยามฝั่งของอินเดีย ซึ่งปฏิเสธว่าเรือลำดังกล่าวอยู่ในน่านน้ำของตน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่หน่วยยามฝั่งระดับสูงของอินเดีย ยืนยันกับรอยเตอร์ว่า เรือลอยลำอยู่ใกล้หมู่เกาะดังกล่าว และในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา เลวา กล่าวว่า เรือของกองทัพเรืออินเดียที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ได้จัดหาอาหารและน้ำดื่มไปช่วยเหลือพวกเขาแล้ว

ในแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง UNHCR แถลงว่า ต้องใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือชีวิตและป้องกันโศกนาฏกรรมครั้งใหม่ “เราขอเรียกร้องให้ทุกรัฐบาลเพิ่มความสามารถในการค้นหาและช่วยเหลือพวกเขา และนำพวกเขาที่กำลังตกอยู่ในความยากลำบากแสนสาหัส ขึ้นจากเรือทันที”

ยูเอ็น ระบุว่า มีชาวโรฮีนจามากกว่า 740,000 คน หลบหนีออกจากเมียนมา ข้ามพรมแดนไปยังบังกลาเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่ก็อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย แต่ก็มีบางส่วนพยายามที่จะหลบหนีเข้าไปยังมาเลเซียและอินโดนีเซียโดยทางเรือ ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว มีชาวโรฮีนจามากกว่า 200 คน เสียชีวิต หรือไม่ก็สูญหายกลางทะเล ขณะพยายามเดินทางไกลที่สุดจะอันตราย

แม้จะมีข้อตกลงระหว่างรัฐบาลบังกลาเทศและเมียนมา ว่าจะรับชาวโรฮีนจากลับ 2 ปีผ่าน ยังไม่เห็นแววว่าจะมีชาวโรฮีนจา กล้ากลับมาตุภูมิในรัฐยะไข่แต่อย่างใด เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย กลัวจะกลับเอาชีวิตไปทิ้ง มันยิ่งยากมากขึ้นเมื่อกองทัพเมียนมายึดอำนาจ แม้ถิ่นฐานบ้านเกิดยังอยู่ไม่ได้ เมื่อหนีไปตายเอาดาบหน้า บางคนก็ตายจริง ๆ ร่างไร้วิญญาณจมสู่ก้นทะเลศพแล้วศพเล่า ชีวิตของชาวโรฮีนจา มีให้เลือก 2 อย่าง อยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรี หรือไม่ก็ไปเสี่ยงตายเอาข้างหน้า ถ้าโชคดีอาจได้ลืมตาอ้าปากในประเทศที่ 3

“ชีวิตชาวโรฮีนจา แม้แต่พรหมก็ไม่กล้าลิขิต”