สีจิ้นผิงประกาศชัยชนะ ‘จีนแก้จน’ ยกย่อง ‘ปาฏิหาริย์แห่งประวัติศาสตร์’

2021-02-26 05:50:03

สีจิ้นผิงประกาศชัยชนะ ‘จีนแก้จน’ ยกย่อง ‘ปาฏิหาริย์แห่งประวัติศาสตร์’

Advertisement

ปักกิ่ง, 25 ก.พ. (ซินหัว) — สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวยกย่องความสำเร็จของประเทศที่สามารถขจัดความยากจนขั้นสูงสุดเป็นปาฏิหาริย์ที่จะ “ถูกจารึกในประวัติศาสตร์”

วันพฤหัสบดี (25 ก.พ.) ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) และประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลาง (CMC) เข้าร่วมการประชุมใหญ่ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเชิดชูความสำเร็จด้านการบรรเทาความยากจนและมอบรางวัลต้นแบบการต่อสู้กับความยากจนของประเทศ

สีจิ้นผิงประกาศ “ชัยชนะโดยสมบูรณ์” ในการต่อสู้กับความยากจน ซึ่งเกิดจากความพยายามร่วมกันของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ พร้อมเน้นย้ำว่าการขจัดความยากจนในชนบทเป็นส่วนสำคัญของการบรรลุเป้าหมายสร้างสังคมมั่งคั่งระดับปานกลางในทุกด้าน โดยจีนได้สร้าง “ตัวอย่างฉบับจีน” ในการลดความยากจน และสร้างคุณูปการยิ่งใหญ่ในการบรรเทาความยากจนระดับโลก




อนึ่ง ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา จีนได้ช่วยเหลือชาวชนบทที่อยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจนหลุดพ้นจากความยากจนถึง 98.99 ล้านคน โดยมีหมู่บ้าน 128,000 แห่ง และอำเภอ 832 แห่ง ถูกปลดออกจากบัญชีพื้นที่ยากไร้

ตั้งแต่ปลายปี 2012 จีนได้สร้างหรือปรับปรุงถนนในชนบทเป็นระยะทางรวม 1.1 ล้านกิโลเมตร จัดหาพลังงานไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพแก่พื้นที่ชนบท และขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตใยแก้วนำแสงและสัญญาณ 4จี (4G) ให้ครอบคลุมหมู่บ้านยากไร้กว่าร้อยละ 98



ช่วงเวลาเดียวกันนั้น ประชาชนยากจนราว 25.68 ล้านคนจาก 7.9 ล้านครัวเรือน ได้รับการปรับปรุงบ้านที่อยู่อาศัยอันชำรุดทรุดโทรม และประชาชนมากกว่า 9.6 ล้านคน ได้รับการโยกย้ายออกจากพื้นที่ทุรกันดารสู่บ้านหลังใหม่ที่ดีกว่าเดิม ด้าน 28 กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีประชากรค่อนข้างน้อย ยังหลุดพ้นจากความยากจนพร้อมกันด้วย

จีนได้ช่วยเหลือชาวชนบทหลุดพ้นจากความยากจน 770 ล้านคน นับตั้งแต่เริ่มต้นการปฏิรูปและเปิดประเทศเมื่อ 40 ปีก่อน หากคำนวณตามเส้นแบ่งความยากจนในปัจจุบันของจีน และคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 70 ของประชากรยากจนทั่วโลก หากอ้างอิงเส้นแบ่งความยากจนสากลของธนาคารโลก

ทั้งนี้ สีจิ้นผิงกล่าวว่าจีนได้บรรลุเป้าหมายขจัดความยากจนเร็วกว่าที่กำหนดไว้ใน “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 แห่งสหประชาชาติ” (United Nations 2030 Agenda for Sustainable Development) ถึง 10 ปี