"อัยการ"เปิดข้อ ก.ม.ศาลสั่งคุก"ส.ส.-รมต."หลุดเก้าอี้หรือไม่

2021-02-24 18:30:36

"อัยการ"เปิดข้อ ก.ม.ศาลสั่งคุก"ส.ส.-รมต."หลุดเก้าอี้หรือไม่

Advertisement

"อัยการ" เปิดข้อ ก.ม.ไขคำตอบ ศาลพิพากษาจำคุก "ส.ส.-รมต." หลุดจากเก้าอี้หรือไม่

พิพากษาจำคุก"เทพเทือก- 3 รมต.กปปส."ล้มเลือกตั้ง

"หมอเดนมาร์ก"โวยสื่อบิดเบือน"จตุจักร"ต้นตอโควิด

สาวใต้พ้อแฉ "แรปเปอร์" 400 ล้านวิว เจอทัวร์ลงขุดภาพสยิวประจาน

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. จากกรณี ศาลอาญา พิพากษาจำคุก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 5 ปี, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 7 ปี, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 6 ปี 16 เดือน, นายถาวร เสนเนียม 5 ปี น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก 1 ปี นายสุริยะใส กตะศิลา 2 ปี นางทยา ทีปสุวรรณ 1 ปี 8 เดือน หลังตกเป็นจำเลยฐานกบฏ ก่อการร้าย ล้มล้างการปกครอง ขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัฒน์ ช่วงปี 2556 เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กส่วนตัว ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายว่า คำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกกับการสิ้นสุดสถานภาพความเป็น ส.ส.และรัฐมนตรี นั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 บัญญัติหลักเกณฑ์การสิ้นสุดสมาชิกภาพของ ส.ส. และการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี ไว้หลายกรณี โดยมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงในเรื่องนี้อยู่ด้วยกันหลายมาตรา ที่น่าสนใจที่จะนำมากล่าวในที่นี้ คือ บทบัญญัติในมาตรา 98 (6), มาตรา 101 (6) และ (13) และมาตรา 160 (6) และ (7) ในกรณีของ ส.ส. หากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ถึงแม้จะพิพากษาให้รอการลงโทษก็ถือเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลง เว้นแต่ความผิดที่ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษนั้น จะเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ และความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (13) จึงจะถือเอาเหตุที่ศาลรอการลงโทษดังกล่าวมาเป็นเหตุยกเว้นไม่ทำให้สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลงไปได้




โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (13) นี้ กำหนดหลักเกณฑ์ของคำพิพากษาของศาลที่จะเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลงไว้ว่า จะต้องเป็นคำพิพากษาของศาลให้ลงโทษจำคุกที่ถึงที่สุดเท่านั้น ดังนั้นหากยังอยู่ในระหว่างกระบวนการอุทธรณ์ หรือฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลตามกฎหมาย คำพิพากษาของศาลนั้นย่อมยังไม่ถึงที่สุด และยังไม่ถือเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลง ส่วนกรณีของรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (7) บัญญัติไว้ว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก โดยไม่คำนึงว่าคดีจะถึงที่สุดหรือไม่ หรือคำพิพากษาที่ให้ลงโทษจำคุกนั้นจะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ความผิดที่ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษนั้นจะเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ และความผิดฐานหมิ่นประมาท ดังนั้นหากรัฐมนตรีต้องคำพิพากษาของศาลให้ลงโทษจำคุก ถึงแม้ว่าคำพิพากษาจะยังไม่ถึงที่สุด ยังอยู่ในกระบวนการอุทธรณ์ฎีกาตามกฎหมายอยู่ก็ตาม ก็ถือเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 (7) แล้ว ซึ่งจะแตกต่างจากกรณีของ ส.ส.ที่คำพิพากษาของศาล จะเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลง ต้องเป็นคำพิพากษาที่ถึงที่สุดเท่านั้น


ส่วนเหตุการสิ้นสุดสถานภาพความเป็น ส.ส.หรือความเป็นรัฐมนตรี ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษและเหตุยกเว้นนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (13) และ มาตรา 166 (7) บัญญัติไว้เหมือนกัน ดังได้กล่าวไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ทำให้สถานภาพความเป็น ส.ส. และรัฐมนตรีสิ้นสุดลงได้อีกกรณีนึง คือ หลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกแล้ว หากจำเลยที่เป็น ส.ส.หรือรัฐมนตรี ยื่นคำร้องขอประกันตัวหรือขอปล่อยชั่วคราว ก่อนที่จะมีการยื่นอุทธรณ์ หรือฎีกาคำพิพากษาของศาลต่อไป แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากศาลในทันที จนทำให้ต้องถูกคุมขังชั่วคราวตามหมายศาลในระหว่างที่รอคำสั่งศาลว่าจะอนุญาตให้ประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราวหรือไม่ กรณีดังกล่าวนี้ถือเป็นเหตุให้สถานภาพความเป็น ส.ส.และรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6) ประกอบ มาตรา 101 (6) และ มาตรา 160 (6) ด้วยเหตุจากการต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังโดยหมายของศาลเช่นกัน