ผู้เชี่ยวชาญ WHO ชี้ ไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่ง ‘โควิด-19’ หลุดจากแล็บอู่ฮั่น

2021-02-24 08:00:54

ผู้เชี่ยวชาญ WHO ชี้ ไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่ง ‘โควิด-19’ หลุดจากแล็บอู่ฮั่น

Advertisement

เมื่อวันจันทร์ (22 ก.พ.) สมาชิกคณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เดินทางไปปฏิบัติภารกิจติดตามต้นกำเนิดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคโควิด-19 ในจีน ระบุว่า กรณีไวรัสรั่วไหลจากห้องปฏิบัติการในนครอู่ฮั่นของจีนนั้น “ไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่ง”

โดมินิก ดไวเยอร์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ เปิดเผยในบทความบนเดอะ คอนเวอร์เซชัน (The Conversation) เครือข่ายสื่อที่มุ่งเผยแพร่ข่าวการวิจัยและการวิเคราะห์ ว่า ตัวเลือกที่เป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมืองมากที่สุดที่เราตรวจสอบคือกรณีที่มีคำถามว่าไวรัสนี้รั่วไหลจากห้องปฏิบัติการหรือไม่ เราสรุปว่ากรณีดังกล่าวไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่ง

ดไวเยอร์กล่าวอีกว่า สถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น “เป็นแหล่งวิจัยที่น่าประทับใจและดูเหมือนมีการดำเนินงานที่ดี โดยคำนึงถึงสุขภาพร่างกายของพนักงาน” พร้อมเสริมว่าตัวอย่างเลือดของนักวิทยาศาสตร์ประจำสถาบันฯ ถูกรวบรวมและจัดเก็บอยู่เสมอ และ “ไม่พบหลักฐานว่ามีแอนติบอดีไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่”




ดไวเยอร์ระบุว่า หน่วยระบาดวิทยาคลินิกของคณะผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจสอบสถิติและข้อมูลที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก และ “ไม่พบหลักฐานที่บ่งชี้ชัดว่ามีไวรัสปริมาณมากไหลเวียนในอู่ฮั่นช่วงระยะหลังของปี 2019 ก่อนจะตรวจพบผู้ป่วยรายแรก”

ดไวเยอร์ เปิดเผยว่า “เราพูดคุยกับคณะผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจีน ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักระบาดวิทยา หรือแพทย์ ตลอดเวลา 4 สัปดาห์ที่องค์การฯ ปฏิบัติภารกิจในจีน เราหารือกับพวกเขาสูงสุด 15 ชั่วโมงต่อวัน เราจึงกลายเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่เพื่อนกันไปแล้ว สิ่งนี้เองที่ช่วยสร้างความเคารพและไว้วางใจในแบบที่เราไม่สามารถทำได้ผ่านทางซูม (Zoom) หรืออีเมล”



ผู้เชี่ยวชาญออสเตรเลียกล่าวว่า เป็นไปได้อย่างมากว่าไวรัสนั้นมีต้นกำเนิดจากสัตว์ แต่ไม่จำเป็นว่าต้องมาจากตลาดสดในอู่ฮั่น “มันอาจแพร่จากค้างคาวมาสู่มนุษย์ จากสัตว์ตัวกลางที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก ในสถานที่ที่ไม่มีใครรู้จัก” พร้อมเสริมว่าคณะผู้เชี่ยวชาญ “ยังคงดำเนินงานเพื่อยืนยันห่วงโซ่ที่แท้จริงของเหตุการณ์ที่นำไปสู่การระบาดใหญ่ในปัจจุบัน”

ทั้งนี้ ดไวเยอร์เผยว่าภารกิจขององค์การฯ เป็นเพียงระยะแรกของการตรวจสอบ “และนักวิจัยจะมองหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบหลักฐานกรณีที่ว่าไวรัสไหลเวียนอยู่ในยุโรปก่อนหน้านี้ในปี 2019”

นอกจากนั้น ดไวเยอร์กล่าวทิ้งท้ายว่า “นักวิจัยจะทำการทดสอบสัตว์ป่าและสัตว์อื่นในภูมิภาคเพื่อหาร่องรอยของไวรัส และเราจะเรียนรู้จากประสบการณ์เพื่อปรับปรุงวิธีตรวจสอบการระบาดใหญ่ครั้งต่อไป”


ซินหัวไทย