อธิบดี พช.ให้กำลังใจผู้เข้าอบรม "โคก หนอง นา โมเดล"

2021-02-15 16:25:23

อธิบดี พช.ให้กำลังใจผู้เข้าอบรม "โคก หนอง นา โมเดล"

Advertisement

อธิบดี พช. ลงพื้นที่ติดตามให้กำลังใจ ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรระยะสั้น รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล เน้นย้ำ ลงมือปฏิบัติจริง ฟื้นฟูทุนเดิม ดิน น้ำ ป่า วิถีวัฒนธรรม นำกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ พลิกฟื้นความยั่งยืนสู่ชุมชน


เมื่อวันที่ 14 ก.พ.  นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่ติดตามให้กำลังใจและให้ข้อเสนอแนะการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล โดยมีนางประภา ปานนิตยกุล ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน วิทยากรจาก ศพช.นครนายก นายสุนทร แววมะบุตร ร.อ.วารินทร์ ช่างทอง ผู้นำต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ เครือข่ายโคก หนอง นา โมเดล ศูนย์ฯ รุ่นที่ 1 ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยกลุ่มเป้าหมายจาก จ.อุบลราชธานี จำนวน 68 คน ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต(CLM) ซึ่งดำเนินการระหว่างวันที่ 11-15 ก.พ. 2564 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก


นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวให้กำลังใจผู้เข้าอบรม สร้างขวัญและกำลังใจในการฝึกอบรมตลอดหลักสูตร รวมถึงการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ “ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล” จึงถือเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้น โดยมีการฝึกปฏิบัติสร้างหุ่นจำลองการจัดการพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล เพื่อเป็นการเรียนรู้ หลักการออกแบบ บริหารจัดการดิน น้ำ ลม ไฟ คน ตามภูมิสังคมของพื้นที่ ๆ ได้รับโจทย์ โดยการออกแบบต้องบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด


ในการนี้ นางประภา ปานนิตยกุล ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก ได้เชิญอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ชมพื้นที่ฐานเรียนรู้ การออกแบบ โคก หนอง นา ในกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชน เอามื้อสามัคคี พัฒนาพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่ของผู้เข้าอบรม จำนวน 3 แปลง ได้แก่ แปลงที่ 1 จ.กาฬสินธุ์ กาญจนบุรี และกระบี่ แปลงที่ 2 จ.ปราจีนบุรี และแปลงที่ 3 จ.อุบลราชธานี โดยผู้เข้ารับการอบรมได้ออกแบบพื้นที่ "โคก หนอง นา " บนพื้นที่จริง แบกจอบเสียมไปปฏิบัติจริง กับการเอามื้อสามัคคี พัฒนาพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่ นอกจากนี้วิทยากร ศพช.นครนายก นายสุนทร แววมะบุตร ร.อ.วารินทร์ ช่างทอง ผู้นำต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ เครือข่ายโคก หนอง นา โมเดล ศูนย์ฯ รุ่นที่ 1 ได้ให้ความรู้คำแนะนำตลอดการปฏิบัติ หลังจากเสร็จสิ้นการ "เอามื้อสามัคคี" แต่ละกลุ่มได้ร่วมกันถอดบทเรียนที่ได้จากการทำกิจกรรมโดยได้มีการสำรวจสภาพปัญหา และรับฟังความคิดเห็นต่างๆ จากการปฏิบัติ พบว่า คลองไส้ไก่ลึกไม่พอสำหรับการรับน้ำ ไม่ได้พูดคุยกันให้ชัดเจน ขาดความรู้จะหาความรู้เพิ่มเติม และเน้นการออกแบบพื้นที่เพื่อบริหารจัดการน้ำ ควรมีการเลือกพื้นที่ให้เหมาะกับพืชและพื้นที่ ในการปฏิบัติจริงครั้งนี้ ทำให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ในครัวเรือนและชุมชน และมุ่งเน้นการทำงานเป็นทีม รวมถึงในภาคค่ำ ได้ร่วมกันถอดบทเรียนผ่านสื่อ "วิถีภูมิปัญญาไทยกับการพึ่งตนเองในภาวะวิกฤต" เรียนรู้บุคคลต้นแบบ "พ่อเลี่ยม บุตรจันทา" จากสภาพปัญหาความยากจน สาเหตุความลำบาก การยึดติด และสามารถนำแนวคิดที่ได้รับไปปรับใช้เพื่อไม่ให้มีหนี้สินในครัวเรือนอีกต่อไป


นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางรอดของประเทศอยู่ที่ทุกท่าน ที่จะน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล ตามหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งมีมากกว่า 40 ทฤษฎี และมีวิธีการปฏิบัติให้ได้ศึกษาจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มากกว่า 4,700 กว่าโครงการ และในศูนย์ศึกษาและพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง ทุกท่านต้องนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังให้สมกับความเพียรของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชปณิธานในการ สืบสาน รักษาและต่อยอด โดยพระราชทานภาพวาดการ์ตูนฝีพระหัตถ์ ครอบครัวที่เป็นสุขท่ามกลางความสมบูรณ์ของโคก หนอง นา เพื่อเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จเป็นต้นแบบจับต้องได้ ให้ทุกคนรู้ว่าเป็นแนวทางที่ทำให้ไปสู่ความยั่งยืนในชีวิต ก่อให้เกิดเป็นมรรคเป็นผลเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป