ยกกรณี "โจ บอยสเก๊าท์" CPR ช่วยผู้ป่วยหยุดหายใจ

2017-11-11 20:20:12

ยกกรณี "โจ บอยสเก๊าท์" CPR ช่วยผู้ป่วยหยุดหายใจ

Advertisement

จากกรณี นายธเนศ ฉิมท้วม หรือ "โจ บอยสเก๊าท์"หมดสติขณะกำลังร้องเพลงที่ผับแห่งหนึ่ง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทำให้แพทย์ผู้เกี่ยวข้องออกมาเตือนให้ทุกคนได้ตระหนักถึงการช่วยเหลือผู้ป่วยเพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยนักร้องดัง


เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวและเพื่อนของโจ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจเป็นภัยเงียบที่อาจนำมาสู่อาการภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันซึ่งอาจเกิดขึ้นกับผู้ที่มีความเสี่ยงได้ตลอดเวลา

​​เลขาธิการ สพฉ.บอกว่า ในผู้ป่วยทั่วไปก่อนที่หัวใจจะหยุดเต้นเฉียบพลัน หัวใจจะมีภาวะเต้นพลิ้วไม่เป็นจังหวะทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดภาวะหมดสติ ไม่รู้สึกตัว แต่สมองยังคงสั่งการให้ร่างกายพยายามหายใจ ที่เรียกว่า Gasping breathing หรือ การหายใจเฮือก ซึ่งผู้ป่วยจะหายใจแบบอ้าปากพะงาบ ทำให้คนรอบข้างเข้าใจผิดว่ายังหายใจเป็นปกติ และทำให้การตัดสินใจช่วยเหลือด้วยการกดหน้าอกปั๊มหัวใจ (CPR : Cardiopulmonary Resuscitation )นั้นช้าลง




จากการวิจัยทางการแพทย์นั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการกดหน้าอกช่วยภายในเวลา 4 นาทีหลังจากที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจึงจะสามารถเพิ่มโอกาสรอด แนะนำว่าขั้นตอนของการช่วยชีวิตสำหรับประชาชนทั่วไป เมื่อพบผู้หมดสติให้ปลุกเรียก ถ้าไม่ตอบสนอง ให้สังเกตการหายใจ หากไม่หายใจ หรือหายใจเป็นเฮือก หรือสงสัยว่าไม่หายใจ ให้โทร 1669 เพื่อเรียกหน่วยกู้ชีพ จากนั้นให้เริ่มทำการกดหน้าอก CPR โดยประสานมือตรงกี่งกลางหน้าอกระหว่างหัวนมสองข้าง กดลึก 5-6 เซนติเมตร กดต่อเนื่องด้วยจังหวะ 100-120 ครั้งต่อนาที จนกว่าหน่วยกู้ชีพมาถึง หรือจนกว่าผู้ป่วยจะมีการตอบสนอง


หากสถานที่นั้นมีเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติหรือ AED ให้ร้องขอเพื่อนำมาใช้โดยทำตามคำแนะนำของเครื่อง AED ขณะรอคอยชุดปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์จะมาถึง ซึ่งในกรณีลักษณะเช่นนี้เรียกว่าผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ หากได้รับการนำส่งยังรพ.รัฐหรือเอกชนที่อยู่ไกล้ก็สามารถใช้บริการตามโครงการฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ หรือ UCEP ได้


ด้าน ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจถึงกรณีการเสียชีวิตของ โจ บอยสเกาท์ และเสนอว่า ควรจะนำการสูญเสียครั้งนี้มาเป็นบทเรียนในการพัฒนา จากข่าวที่ระบุว่า ผู้เสียมีชีวิตมีน้ำตาลในเลือดสูงถึง 300 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรนั้น ผู้เสียชีวิตน่าจะเป็นจากอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ส่วนน้ำตาลในเลือดที่สูงนั้นไม่ได้ทำให้คนตายได้ แต่จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบตัน ดังนั้น การช่วยเหลือ หากเราพบว่าผู้ป่วยมีอาการหยุดหายใจควรทำการปั๊มหัวใจ(CPR) ทันที และรีบเรียกหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินทันที หรือโทรเบอร์1669 แต่กว่ารถฉุกเฉินจะมาต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 นาทีขึ้นไป ดังนั้นการทำ CPR จึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด


การสอนให้ประชาชนสามารถแจ้งเหตุเพื่อตามรถฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็วและการช่วยฟื้นคืนชีพ หรือ CPR ระหว่างการรอรถฉุกเฉิน จะมีโอกาสเพิ่มความสำเร็จในการช่วยเหบือผู้ป่วย นอกจากนี้ ในไทยพบว่าเกือบครึ่ง หรือร้อยละ 45 ของการเสียชีวิตเฉียบพลัน เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งโรคนี้มักเกิดขึ้นทันทีแบบเฉียบพลัน




“ที่ผ่านมาทางสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯเคยแนะนำให้คนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยที่มีเริ่มมีภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบหรือหัวใจขาดเลือด ให้พกยาแก้อาการหัวใจขาดเลือด หรือยาไอเอสดีเอ็น(ISDN) ที่จะใช้อมไว้ใต้ลิ้น เมื่อเกิดอาการ แน่น จุกอก หายใจไม่ออก ก่อนที่จะหมดสติ หรือชัก ให้รีบอมยาไว้ใต้ลิ้นทันที ก็จะยิ่งทำให้มีโอกาสรอดชีวิตได้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทางสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ ได้จัดทำโครงการส่งเสริมและ ป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้นมา เพื่อพยายามผลักดันให้เกิดเป็นหลักสูตรในกระทรวงศึกษาธิการเรื่อง ตั้งแต่การป้องกันและให้มีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วยฉุกเฉินด้วยสาเหตุที่ป้องกันได้ ตลอดจน สอนเรื่องการกู้ชีพฉุกเฉินขึ้น โดยมุ่งหวังให้เยาวชนไทยจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่และผู้ที่มีอายุยืนยาวที่มีคุณภาพ และหากพบผู้ป่วยฉุกเฉิน ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้"ศ.นพ.สันต์ กล่าว



ขอบคุณภาพ : Facebook Joe boyscount